ที่ประชุมวิปวุฒิสภา เห็นชอบให้ กมธ.ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย และร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ พิธีสารฯ ห้ามทิ้งของเสียลงทะเล และเห็นควรแนะนำให้ที่ประชุมวุฒิสภา รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.พื้นฟูและพัฒนาเกษตร, พ.ร.บ.ยุบบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ไว้พิจารณา
วันนี้ (15 ก.ค. 2563) นายคำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ครั้งที่ 17/2563 วันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2563 ซึ่งมี ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีเรื่องพิจารณาที่น่าสนใจ ดังนี้
1. การเตรียมการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563
1.1 ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ฉบับ คือ
1.1.1 ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) (ประธานวุฒิสภา มอบหมายให้พิจารณา)
- เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556) เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรา 133 (3) มาตรา 256 (1) และมาตรา 258 ค. (4) ของรัฐธรรมนูญ
- ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ในประเด็นปฏิรูปที่ 6 ที่กำหนดว่า “มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ และจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน” และในประเด็นย่อยที่ 4 ที่กำหนดว่า “จัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย”
มติที่ประชุม
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
1. มอบหมายให้คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ตสร.) และคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมกันพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้วรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาต่อไป
2. มอบหมายให้คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ตสร.) เป็นผู้ประสานงานเพื่อเสนอรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาเพื่อเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในสัดส่วนของวุฒิสภา จำนวน 17 คน แล้วเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาต่อไป
1.1.2 ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)
- เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เพื่อปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติขึ้นเป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
- ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
มติที่ประชุม
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
1. มอบหมายให้คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ตสร.) และคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ร่วมกันพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้วรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาต่อไป
2. มอบหมายให้คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ตสร.) เป็นผู้ประสานงานเพื่อเสนอรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาเพื่อเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในสัดส่วนของวุฒิสภา จำนวน 17 คน แล้วเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาต่อไป
1.2 หนังสือสัญญา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ฉบับ คือ พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) (ประธานวุฒิสภา มอบหมายให้พิจารณา)
พิธีสาร ค.ศ. 1996 มีหลักการสำคัญคือ การห้ามทิ้งเทหรือเผาของเสียและวัสดุอื่นลงในทะเล เว้นแต่ได้รับอนุญาตหรือเข้าข้อยกเว้นตามพิธีสารฯ
โดยกำหนดหน้าที่และให้อำนาจรัฐในการควบคุมและกำกับดูแลกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยกำหนดระบบการอนุญาต และระบบการประเมินการทิ้งเทวัสดุลงทะเล เพื่อดูแลกิจกรรมการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นในทะเล
มติที่ประชุม
ที่ประชุมมีมติเห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการคมนาคม คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพิจารณาศึกษาพิธีสารดังกล่าวพร้อมทั้งเสนอรายงานการพิจารณาศึกษาพิธีสารดังกล่าวเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา พร้อมทั้งแถลงความเห็นและข้อสังเกตในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 ต่อไป
2. ร่างพระราชบัญญัติที่คาดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอต่อวุฒิสภา ตามมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ (คาดว่าจะบรรจุระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2563) จำนวน 2 ฉบับ คือ
2.1 ร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ในประเด็นสำคัญ คือ วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร และให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรรับภาระชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้
มติที่ประชุม
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติดังนี้
1. เห็นควรแนะนำที่ประชุมวุฒิสภารับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้พิจารณาและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา จำนวน 29 คน ประกอบด้วย
1) ผู้แทนคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 23 คน
2) ผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา จำนวน 3 คน
3) ผู้แทนคณะรัฐมนตรี จำนวน 3 คน
2. กำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วันทำการ
2.2 ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. ....
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) รวมทั้งโอนกิจการและภาระผูกพันต่างๆ ของ บตท. ไปยังธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่จำเป็นในการโอนกิจการดังกล่าว
มติที่ประชุม
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติดังนี้
1. เห็นควรแนะนำที่ประชุมวุฒิสภารับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้พิจารณาและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา จำนวน 29 คน ประกอบด้วย
1) ผู้แทนคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 23 คน
2) ผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา จำนวน 3 คน
3) ผู้แทนคณะรัฐมนตรี จำนวน 3 คน
2. กำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วันทำการ