xs
xsm
sm
md
lg

วิปวุฒิฯ เห็นควรรับร่าง พ.ร.บ.ตั้งสำนักงาน กก.นโยบายที่ดิน-ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ไฟเขียวพิธีสารลอนดอน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายคำนูณ  สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
ที่ประชุมวิปวุฒิสภา เห็นควรรับและตั้ง กมธ.แปรญัตติร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เห็นควรให้ความเห็นชอบพิธีสารลอนดอน ห้ามทิ้งของเสียลงทะเล และเสนอที่ประชุมวุฒิฯ ตั้ง กมธ.สอบประวัติ “ศยามล ไกยูรวงศ์” ผู้ถูกเสนอชื่อเป็น กสม.

วันนี้ (22 ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ได้แถลงผลการประชุม ครั้งที่ 18/2563 วันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2563 ซึ่งมี ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีเรื่องพิจารณาที่น่าสนใจ ดังนี้

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563

1. ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 270 วรรคสอง จำนวน 2 ฉบับ คือ

1.1 ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)

สาระสำคัญ :

- กำหนดให้สำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเป็นส่วนราชการระดับกรม ในสำนักนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

- กำหนดให้โอนอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระ ผูกพันข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกองแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับงานตามภารกิจของคณะกรรมการจัดที่ดิน ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

- ร่างพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศในเรื่อง
1. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องและประเด็นปฏิรูปที่ 1 : ทรัพยากรทางบก
2. ด้านสังคม เรื่องและประเด็นปฏิรูปที่ 4 : ระบบสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง

1.2 ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)

สาระสำคัญ :

- เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 163 และมาตรา 291 บัญญัติให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อให้รัฐสภา พิจารณากฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้สิทธิในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ และให้เหมาะสมสอดคล้องกับมาตรา 133(3) มาตรา 256(1) และ มาตรา 258 ค.(4) ของรัฐธรรมนูญ

- ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ในประเด็นปฏิรูปที่ 6 ที่กำหนดว่า “มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทาและเสนอ ร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ และจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทาและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน” และในประเด็นย่อยที่ 4 ที่กำหนดว่า “จัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย”

มติที่ประชุม :

1. เห็นควรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว

2. เห็นควรเสนอรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาเพื่อเป็นกรรมาธิการ ร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง 2 ฉบับๆ ละ 13 คน ตามองค์ประกอบคณะกรรมาธิการ ร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งคณะกรรมาธิการแต่ละคณะ มีจำนวน 49 คน ประกอบด้วย
- สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 13 คน
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 24 คน
- ผู้แทนคณะรัฐมนตรี จำนวน 12 คน
โดยมีกำหนดแปรญัตติ 7 วัน

2. หนังสือสัญญาตามมาตรา 278 ของรัฐธรรมนูญ

- พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเล เนื่องจากการทิ้งวัสดุ เหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)

สาระสำคัญ :
พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 หรือ พิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 มีหลักการสำคัญ คือ การห้ามทิ้งเทหรือเผา ของเสียและวัสดุอื่นลงในทะเล เว้นแต่ได้รับอนุญาตหรือเข้าข้อยกเว้นตามพิธีสารฯ โดยกำหนดหน้าที่และให้อำนาจรัฐในการควบคุมและกำกับดูแลกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยกำหนดระบบการอนุญาต และระบบการประเมินการทิ้งเทวัสดุลงทะเล เพื่อดูแลกิจกรรมการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นในทะเล โดยหลักการดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเข้าเงื่อนไขหนังสือสัญญาที่ต้องเสนอต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 วรรคสาม

ทั้งนี้ หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบพิธีสารฉบับนี้และรัฐบาลลงนามเข้าเป็นภาคีพิธีสารดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเสนอกฎหมายอีก 1 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการเททิ้งของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในคราวเดียวกับมีมติเห็นชอบการเข้าร่วมพิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563

มติที่ประชุม :

เห็นควรให้ความเห็นชอบพิธีสารดังกล่าว

การกระชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญครั้งที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563

- การเตรียมการเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมขงบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ตามข้อบังคับข้อ 105)

สาระสำคัญ :

- ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีหนังสือกราบเรียนประธานวุฒิสภา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 สรุปสาระสำคัญว่า คณะกรรมการสรรหา กสม. ได้ดำเนินการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน (เพิ่มเติม) ตามมาตรา 8(1) (3) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ โดยปรากฏว่า มีผู้ได้รับการคัดสรรให้เป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 1 คน คือ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ตามมาตรา 8(3) เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ

- ทั้งนี้ มาตรา 14 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า “ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

มติที่ประชุม :

- เห็นควรเสนอที่ประชุมวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน 15 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น