xs
xsm
sm
md
lg

อัยการแจงคดี “บอส อยู่วิทยา” ซิ่งเฟอร์รารีชน ตร.ทองหล่อดับ เหลืออายุความ 7 ปี รอตำรวจแจ้งแหล่งพำนักเพื่อประสานขอตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



อัยการแจงคดี “บอส อยู่วิทยาซิ่งเฟอร์รารีชน ตร.ทองหล่อดับปี 55 แล้วหลบหนีออกต่างประเทศยังเหลืออายุความอีก 7 ปี อยู่ที่ตำรวจจะประสานข้อมูลแหล่งที่พำนักให้ชัดเจน แล้วส่งข้อมูลมาเพื่ออัยการสูงสุดประสานขอตัวจากประเทศนั้นๆ

วันนี้ (27 มิ.ย.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการติดตามตัว นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา อายุ 35 ปี ทายาทผู้บริหารเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดัง ผู้ต้องหาที่อัยการสั่งฟ้องข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2558 หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรงและประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นายที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนคดีให้ครบถ้วนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนี ว่าสำนวนคดีของนายวรยุทธ หรือบอส อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งฟ้องข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อาญา มาตรา 291 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ซึ่งตามกฎหมายจะมีอายุความในการติดตามตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลภายใน 15 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 ดังนั้น คดีจะครบกำหนดที่จะขาดอายุความในวันที่ 3 ก.ย. 2570 ซึ่งมีเวลาอีก 7 ปีที่จะติดตามตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล

นายประยุทธกล่าวอีกว่า เมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องแล้ว ตัวของนายวิทยา หรือบอส ได้หลบหนี ขณะที่คดีมีหมายจับที่ศาลได้ออกไว้แล้ว หากพบว่านายวรยุทธอยู่ในประเทศไทย ตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ถ้าเจอตัวที่ไหนก็สามารถจับกุมตัวมาส่งให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลได้ทันที แต่ปัจจุบันเท่าที่ทราบจากสื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายวรยุทธหลบหนีอยู่ต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อตัวผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศก็ต้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหลักเกณฑ์นี้อยู่ใน พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 คือ 1. การจะขอให้ต่างประเทศที่ได้พบตัวนายวรยุทธ ผู้ต้องหา ที่เราต้องการนำกลับมาดำเนินคดีนั้น ประเทศไทยจะเป็นผู้ร้องขอ 2. ความผิดที่จะร้องขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้จะต้องเป็นลักษณะความผิดอาญาของทั้งสองประเทศ ไม่ใช่ว่าประเทศไทยระบุเป็นความผิดอาญา แต่ประเทศที่ผู้ต้องหาไปพำนักนั้นอยู่ไม่ถือเป็นความผิดเช่นนี้เขาก็จะไม่ส่งให้ แต่ความผิดฐานขับรถประมาทชนคนตาย เป็นความผิดอาญาของกฎหมายทุกประเทศทั่วโลกจึงไม่มีปัญหา และความผิดที่จะร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะต้องมีอัตราโทษประหารชีวิต หรือจำคุกมีกำหนดอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ซึ่งความผิดที่ได้สั่งฟ้องนายวรยุทธ ฐานขับรถประมาทฯ กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีอยู่แล้วก็ถือเป็นอัตราโทษที่เข้าเกณฑ์เช่นกัน

3. ความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะต้องไม่ใช่คดีความผิดเกี่ยวกับการเมือง หรือความผิดเกี่ยวกับทหาร ที่เขาจะไม่ส่งให้กัน ซึ่งคดีของนายวรยุทธก็ไม่เข้าทั้ง 2 กรณีนี้จึงผ่าน สามารถร้องขอให้ส่งตัวได้

4. การร้องขอให้ประเทศใดส่งตัวผู้ต้องหามานั้นก็จะต้องไปสู่หลักที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาจจะโดยตำรวจไทยเอง หรือความร่วมมือกับตำรวจสากลหรืออินเตอร์โปล (Interpol) ก็ได้ แต่จะต้องสืบให้ได้ก่อนว่านายวรยุทธ ผู้ต้องหา พำนักอยู่ประเทศไหน เราจึงจะรู้ว่าต้องส่งคำร้องไปประเทศใด

5. เมื่อเรารู้ว่าผู้ต้องหา พำนักอยู่ประเทศใดแล้ว ต้องดูกฎหมายว่าประเทศนั้นกับไทยมีสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างการหรือไม่ ถ้ามีก็จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยให้ตำรวจรวบรวมเกี่ยวกับเรื่องนั้นทั้งหมด เช่น ข้อเท็จจริงว่ามีการชนคนตาย, มีคำสั่งฟ้องของอัยการ, มีหมายจับของศาล รวบรวมส่งให้อัยการสูงสุดในฐานะ “ผู้ประสานงานกลาง” ตามกฎหมาย และเมื่อรับข้อมูลมาอัยการสูงสุดก็จะมอบหมายให้กับอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศขณะนี้ คือนายชัชชม อรรฆภิญญ์ ซึ่งมีอัยการกองต่างประเทศ ติดต่อประสานงานขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน สุดท้ายจะมีคำสั่งว่าส่งหรือไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะมีวิธีดำเนินการอย่างไร ไม่ใช่ว่าเมื่อร้องขอแล้วจะส่งตัวให้ทันที ตัวอย่างประเทศไทย เมื่อมีประเทศใดร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เราก็จะมีกระบวนการไต่สวนคำร้องและให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

แต่หากกรณีประเทศปลายทางไม่มีสนธิสัญญาฯ กับประเทศไทย ก็จะไปสู่การปฏิบัติ “ตามหลักการวิถีทางการทูต” ประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยหลักสำคัญในวิธีนี้ คือ หากประเทศไทยจะดำเนินการส่งคำร้องขอไปจะต้องแสดงเจตนาให้ชัดเจนว่า ภายหน้าในอนาคตหากมีคนของประเทศนั้นหนีมาอยู่ในประเทศไทย ถ้าเขาขอมาเราก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกัน

นายประยุทธกล่าวว่า หลักการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ต้องดำเนินการภายในอายุความ หากขาดอายุความแล้วก็ดำเนินการไม่ได้ ขณะที่คดีของนายวรยุทธ ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนของตำรวจที่จะสืบหาว่าพำนักอยู่ที่ใด ซึ่งต้องสืบหาให้ได้ก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติตามขั้นตอนขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน

เมื่อถามว่า มีข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานที่พำนักของนายวรยุทธ ผู้ต้องหาแล้วหรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการ ในส่วนของอัยการเราจะดำเนินขั้นตอนหลังจากที่ตำรวจส่งข้อมูลและรายละเอียดมา แล้วอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายจะดำเนินการส่งคำร้องขอไปยังประเทศนั้นๆ ซึ่งอัยการเรามีบุคลากรของอัยการสำนักงานต่างประเทศพร้อมอยู่แล้วที่จะดำเนินการแต่ต้องมีกระบวนการที่จะได้ข้อมูลจากทางตำรวจเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น