xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.สถิตย์” ชูเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นวาระประเทศ แนะทำแผนแม่บทแยกต่างหาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา(แฟ้มภาพ)
“ส.ว.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” ชี้ เศรษฐกิจดิจิทัลมาถึงประเทศไทยเร็วขึ้น เพราะมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง เสนอปรับยุทธศาสตร์ชาติ ยกระดับความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพิ่ม “แผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัล” เป็นแผนแม่บทอีกแผนหนึ่งต่างหาก

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ในการประชุมวุฒิสภา พิจารณาวาระ รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2562 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เกริ่นนำว่า เมื่อปี พ.ศ. 2559 ในสมัยเป็นประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมาธิการได้นำเสนอแนวคิด “เศรษฐกิจกระแสใหม่” โดยมีวาระ “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) เป็นหนึ่งในการปฏิรูปสำคัญด้านเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้า และในปีเดียวกัน พ.ศ. 2559 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน กล่าวถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ใน 2 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ ประเด็นยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และประเด็นยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล โดยมีผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติประจำปี 2562 ดังนี้

- แผนแม่บทประเด็นที่ 4 อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยมีแผนแม่บทย่อยคือ อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ มีเป้าหมายและผลดำเนินการ ดังนี้

อัตราขยายตัวของอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัลเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งไม่มีการรายงานในครั้งนี้
ความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย อยู่ที่อันดับ 1 ใน 40 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness Ranking) โดย สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 จากจำนวน 63 ประเทศ ถึงแม้ว่าอันดับของประเทศไทยจะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่เป็นการตกลงมา 1 อันดับจากปีก่อนหน้า


- แผนแม่บทประเด็นที่ 7 โครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล โดยมีแผนแม่บทย่อย “โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล” ที่มีเพียงเป้าหมายเดียวคือ ให้ประชาชนมีความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นร้อยละ 70 ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2565 ซึ่งในรายงานพบว่า ปี พ.ศ. 2561 มีอัตราเข้าถึงอยู่เพียงร้อยละ 56.8

ทั้งนี้ ดร.สถิตย์ เน้นย้ำว่า ยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลกที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตใหม่ มาถึงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะผลจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงจำเป็นที่จะต้องปรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังนี้

ควรยกระดับความสำคัญของ “เศรษฐกิจดิจิทัล” เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเสนอเพิ่ม “แผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัล” ขึ้นมาแผนแม่บทอีกแผนหนึ่งต่างหาก โดยรวม อุตสาหกรรมดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบนิเวศดิจิทัล และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน

ควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนใน “แผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดมาตรฐานระดับโลกของสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) รวมถึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และ สหประชาชาติ (UN) ดังนี้
ตัวชี้วัดตามการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล
- อัตราขยายตัวของอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัลเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี
ตัวชี้วัดตาม สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD)
- อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitive ness Ranking)
ของไทยอยู่ในอันดับที่ 1 ใน 40 ของโลก ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ อันดับการพัฒนาองค์ความรู้ อันดับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และ อันดับการพัฒนาเพื่อรองรับอนาคต

ตัวชี้วัดตาม สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)
- อันดับความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Global Cyber security Index) เพราะความสะดวกดิจิทัลต้องมาพร้อมกับความปลอดภัยของข้อมูล ทั้งนี้ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุด เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 จาก 175 ประเทศ ลดลงไป 15 อันดับจากฉบับก่อนหน้าเมื่อ ค.ศ. 2017

ตัวชี้วัดตามสหประชาชาติ (UN)
- อันดับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index) โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยรายงาน ปี 2563 ปรากฏว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 57 จาก 193 ประเทศ ดีขึ้นถึง 16 อันดับ

ควรเร่งผลักดันให้รัฐบาลดิจิทัล สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะทุกภาคส่วนต้องเชื่อมต่อบริการและข้อมูลจากภาครัฐ ทั้งนี้ ขอชื่นชมคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินที่ได้ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด ในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยเน้นการบูรณาการข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน ผ่านโครงการบัตรดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อเป็นเกตเวย์ดิจิทัล ในการเข้าถึงของบริการต่างๆ บนหลากหลายแพลตฟอร์ม สู่การเป็น One Country One Platform

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอประกอบ ดังนี้

- เชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ฯลฯ เข้าสู่แพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความสมบูรณ์และเข้มแข็งของแพลตฟอร์มไทย

- เร่งรัดการดำเนินการเรื่องข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น 1) เชื่อมต่อ และบูรณาการข้อมูลของภาครัฐเข้าด้วยกัน ด้วยทางด่วนข้อมูล (X-Highway) 2) สนับสนุนส่งเสริมให้มีการตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Centers) ขนาดใหญ่ขึ้นในประเทศไทยให้สำเร็จ พร้อมดึงยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของโลก เช่น Apple, Google, Facebook, Amazon, Netflix มาใช้ หรือมาตั้งเองในประเทศไทย ทั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของข้อมูลของโลก ซึ่งจะดึงดูดให้ธุรกิจโลกใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง

- เร่งสร้างนวัตกรรม และผู้ประกอบการใหม่ๆ ด้านดิจิทัล โดย การจัดให้มีแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ของหน่วยงานต่างเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น ควรต้องทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแพลตฟอร์มของโลก เป็น Country-as- a-Platform ดึงดูดให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน นำ One Country One Platform ของไทยไปใช้

ดร.สถิตย์ หวังว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ข้างต้น จะนำไปสู่ความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น สามารถก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมวิถีใหม่ ได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น