เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดนายกฯ ลาออกจาก ผอ.ศบค. ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ปล่อยให้อภิสิทธิชนเข้ามาประเทศ จนทำให้เสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
วันนี้ (15 ก.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดผู้อำนวยการ ศบค.และคณะ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นทหารชายสัญชาติอียิปต์ซึ่งเดินทางพร้อมกับคณะเข้ามาในประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และเข้าพักในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ในโรงแรม จ.ระยอง ไม่มีการกักตัว 14 วัน โดยอ้างว่าเป็นไปตามเงื่อนไขข้อยกเว้นที่ให้ลูกเรือต่างชาติเข้ามาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทยได้ และยังพบว่าคณะดังกล่าวมีการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ หลายแห่งใน จ.ระยอง เช่น ห้างสรรพสินค้า
นอกจากนี้ยังมีกรณีการพบผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กหญิงอายุ 9 ขวบ ซึ่งเป็นครอบครัวอุปทูตจากซูดาน เดินทางเข้ามาพำนักที่คอนโดแห่งหนึ่งใน กทม. โดยอ้างว่าได้รับข้อยกเว้นให้กับคณะทูตที่มาปฏิบัติงานในประเทศไทย จึงไม่มีมาตรการกักตัว 14 วันเช่นกันนั้น เหตุทั้ง 2 ถือว่าเป็นเรื่องความหย่อนยานของการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ หัวใจสำคัญของปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของบุคคลที่ผู้นำเหล่าทัพบางคนพยายามกล่าวอ้าง แต่เป็นเรื่องของระบบที่ไปออกมาตรการยกเว้นให้แก่บุคคลเหล่านี้ได้มีอภิสิทธิ์ในการที่จะเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่มีการกักตัว 14 วัน การจะอ้างว่าเป็นเอกสิทธิ์ทางการทูต จึงไม่สามารถที่จะกักตัวหรือกระทำการใดๆ ได้ ซึ่งถ้าย้อนไปดูเงื่อนไขระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญากรุงเวียนนา ปี 1961 ข้อ 44 วรรค 1 และอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล 1963 ข้อ 55 วรรค 1 ระบุไว้ชัดเจน ว่าเจ้าหน้าที่ทางการทูตหรือเจ้าหน้าที่กงสุลจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และต้องไปสอดแทรก หรือแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้น ดังนั้นจะมาอ้างเอกสิทธิ์ทางการทูตไม่ได้ ศบค.จึงไม่มีสิทธิหรือไม่มีอำนาจไปยกเว้น ไปให้อภิสิทธิชนให้แก่คนเหล่านี้ในการเข้ามาในประเทศไทย การที่ไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อกำหนดในฉบับที่ 12 ที่อาศัยอำนาจตาม ม.9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินของ ศบค.ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มีการฝ่าฝืนมาตรการที่กำหนดไว้ได้ง่าย โดยไม่มีมาตรการตรวจสอบที่เคร่งครัดรัดกุมเพียงพอ จนนำมาสู่ความเดือดร้อนเสียหาย และความปลอดภัยของคนในชาติทั้งระบบ จึงนำมาซึ่งปัญหา
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ออกมาขอโทษไม่เพียงพอ ที่ควรลาออกจากตำแหน่งไปแล้วให้บุคคลอื่นซึ่งอาจมีความรู้ความสามารถมาดำรงตำแหน่งแล้วทำหน้าที่นั้นแทน แต่ของประเทศไทยประกาศความรับผิดชอบแล้วยังยืนเฉยแล้วยังกล่าวอ้างโน้นนั่นนี่ สังคมไทยต้องประจักษ์ว่าเราจำเป็นที่จะต้องควบคุมปัญหาโควิด-19 อย่างเท่าเทียม เพราะโควิด-19 ไม่เลือกสถานะ
“การที่ ศบค.ออกข้อกำหนดยกเว้นให้แก่คนที่มีสถานะทางการทูต หรือคณะทหารเหล่านี้ ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นการใช้ตำหน่งหน้าที่ทางราชการไปเอื้อประโยชน์ให้คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สร้างความเสียหายต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดระยอง และ กทม. ผมคิดว่าต้องแสดงสปิริตลาออกไปแล้วอาจจะแต่งตั้งเข้ามาใหม่ก็ไม่ได้เสียหาย แต่ต้องมีการแสดงแอ็กชันแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ออกมาพูดตีหน้าเศร้า เล่าดรามาอะไรแล้วไม่ทำอะไรเลย ไม่ใช่พฤติการณ์ที่เหมาะสมและถูกต้อง”