วันนี้ (15 ก.ค.) เวลา 10.30 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า กรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นทหารชายสัญชาติอียิปต์ ซึ่งเดินทางพร้อมกับคณะเข้ามาในประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และเข้าพักในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ในโรงแรม จ.ระยอง โดยไม่มีการกักตัว 14 วัน โดยอ้างว่าเป็นไปตามเงื่อนไขข้อยกเว้นที่ให้ลูกเรือต่างชาติเข้ามาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทยได้ และยังพบว่าคณะดังกล่าวมีการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆหลายแห่งใน จ.ระยอง เช่น ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังมีกรณีการพบผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กหญิงอายุ 9 ขวบ ซึ่งเป็นครอบครัวอุปทูตจากซูดาน เดินทางเข้ามาพำนักที่คอนโดแห่งหนึ่งในกทม. โดยอ้างว่าได้รับข้อยกเว้นให้กับคณะทูตที่มาปฎิบัติงานในประเทศไทย จึงไม่มีมาตรการกักตัว 14 วันเช่นกันนั้น โดยเหตุทั้ง 2 กรณีเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความหละหลวม และเลือกปฏิบัติของ ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ โดยเฉพาะการออกข้อกำหนดเป็น “ข้อยกเว้น” ให้กับบุคคลต่างๆดังกล่าวได้รับอภิสิทธิ์ชน ตามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อกำหนดในฉบับที่ 12 ที่อาศัยอำนาจตาม ม.9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของ ศบค. ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มีการฝ่าฝืนมาตรการที่กำหนดไว้ได้ง่าย โดยไม่มีมาตรการตรวจสอบที่เคร่งครัดรัดกุมเพียงพอ จนนำมาสู่ความเดือนร้อน เสียหาย และความปลอดภัยของคนในชาติทั้งระบบ เช่นนี้
การใช้อำนาจของ ศบค. อาจเป็นข้ออ้างในความพยายามที่จะใช้เหตุเหล่านี้ขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป โดยไม่มีที่สิ้นสุด เพราะจะสามารถใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นข้ออ้างในรวบอำนาจแบบรวมศูนย์ได้ การใช้งบประมาณจัดซื้อจัดหาแบบรวมศูนย์ และทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเบิกเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนความดีความชอบแบบทวีคูณได้อีกมากมาย ในขณะที่ภาคธุรกิจ ภาคสังคมต้องเสียหายยับเยิน โดยที่ ศบค.ยังลอยตัวอยู่เหนือปัญหา และไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมที่แท้จริง มีแต่เพียงคำขอโทษ และการแสดงความรับผิดชอบที่ว่างเปล่าเท่านั้นจาก ผอ.ศบค. และโฆษก ศบค. ซึ่งกรณีเช่นนี้ในต่างประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว หากประกาศความรับผิดชอบแล้ว เขาจะต้อง “ลาออก” ทันที ไม่ต้องมายืนแถลงตีหน้าเศร้าเล่าดราม่าอีกต่อไป
ทั้งนี้ การที่ ศบค.ใช้อำนาจกำหนดข้อยกเว้นให้กับบุคคลหรือคณะบุคคลเข้ามาในไทยโดยให้มีอภิสิทธิ์เหนือคนไทยด้วยกัน ทั้งๆที่เชื้อโรคไวรัสโควิด-๑๙ จะแพร่ระบาดได้โดยไม่เลือกเพศ วัย ชนชั้น หรือสถานะพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น แต่ ศบค.กลับออกข้อกำหนดที่นำมาซึ่งปัญหาอันส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของคนไทยอย่างไร้ความรับผิดชอบ
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.234 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ในการไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดผู้อำนวยการ ศบค.และคณะ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ต่อไป