ผอ.ซูเปอร์โพล สำรวจเรื่อง รมต.สี่กุมาร ส่วนมากเห็นใจถูกกระทำ คัดค้านลาออก ป้องไม่ควรถูกทรยศหักหลังทั้งที่เสียสละให้เข้ามามีอำนาจ อย่าเสร็จศึกฆ่าขุนพล มอง “บิ๊กตู่” ย้อนกลับสู่การเมืองเก่า แนะคงรูปเดิม ปรับต้องมีเหตุผลพอผิดอะไร
วันนี้ (28 มิ.ย.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “สี่รัฐมนตรีกับใจประชาชน” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,470 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 26-27 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึง “รัฐมนตรีแกนนำสำคัญของรัฐบาลที่ประชาชนพอใจ เฉพาะรัฐมนตรีที่มีข่าวจะถูกปรับออก เทียบกระทบกับความพอใจของประชาชนต่อ 3 ป” พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 49.2 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รองลงมาคือร้อยละ 48.3 ระบุ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยละ 43.5 ระบุนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร้อยละ 43.2 ระบุ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 42.2 ระบุ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ร้อยละ 36.0 ระบุ มรว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสุดท้าย ร้อยละ 31.8 ระบุ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามถึง “ความเห็นของประชาชนต่อ รัฐบาล บิ๊กตู่ เดินหน้าสู่การเมืองใหม่ เป็นตัวอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือการเมืองเก่าแบบเดิมที่เคยถูกอ้างก่อนการยึดอำนาจที่ผ่านมา” พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.5 ระบุ รัฐบาลบิ๊กตู่กำลังเดินสู่การเมืองเก่าแบบเดิมที่เคยถูกอ้างก่อนการยึดอำนาจที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 34.5 ระบุ การเมืองใหม่
ที่น่าพิจารณา คือ “ความรู้สึกเห็นใจของประชาชน สงสาร หดหู่ใจต่อการเมือง เมื่อเห็นสี่รัฐมนตรีถูกกระทำโดยผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและคนในพรรคพลังประชารัฐ” จำแนกตามกลุ่มการเมืองของประชาชน พบว่า พลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 รู้สึกสงสาร เห็นใจ หดหู่ใจต่อการเมืองไทย เมื่อเห็นสี่รัฐมนตรีถูกกระทำโดยผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและคนในพรรคพลังประชารัฐ และแม้แต่ในกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลก็ได้ความรู้สึกสงสารเห็นใจมาจำนวนมากถึงร้อยละ 43.6 ในขณะที่ร้อยละ 29.5 ของผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลรู้สึกสงสาร เห็นใจ หดหู่ใจต่อการเมืองไทย ตามลำดับ ในขณะที่ คนที่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 56.4 ไม่รู้สึกอะไร และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ของคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลไม่รู้สึกอะไรเช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.5 ไม่เห็นด้วยต่อการลาออกจากทุกตำแหน่งของ สี่รัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 37.5 เห็นด้วย
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า “สี่รัฐมนตรีกับใจประชาชน” คือจุดเน้นของโพลชิ้นนี้ที่ชี้ให้เห็นว่า สี่รัฐมนตรีได้ใจประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มพลังเงียบผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่สงสาร เห็นใจและหดหู่ต่อการเมืองไทย เพราะสี่รัฐมนตรีเหล่านี้ถูกผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและคนในพรรคพลังประชารัฐกระทำ โดยส่วนตัววิเคราะห์ว่าสี่รัฐมนตรีเหล่านี้คือผู้ที่มีบุญคุณที่ไม่ควรถูกทรยศหักหลัง อกตัญญูและสามารถอุ้มค้ำจุนความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ฯ มากกว่า ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้
ประการแรก สี่รัฐมนตรีเป็นเสมือนคณะนายทหารชั้นผู้น้อยผู้กล้าในกองทัพส่วนหน้าที่ลุยฝ่ากระสุนกระแสสังคมเพื่อกรุยทางให้ผู้หลักผู้ใหญ่เข้าสู่อำนาจได้อย่างแนบเนียนและทำให้ต่างชาติยอมรับได้แบบพื้นป่าไร้รอยต่อ
ประการที่สอง สี่รัฐมนตรียังไม่มีประวัติด่างพร้อย ยังไม่ได้สร้างความเสื่อมเสียต่อรัฐบาล
ประการที่สาม สี่รัฐมนตรีมีส่วนสำคัญสร้างผลงานปรากฏต่อสายตาต่างชาติทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าลงทุน มีผลงานในประเทศโดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 เงินเยียวยา อัดฉีดเงินตรงถึงกระเป๋าของประชาชน ลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน ค่าก๊าซ และกำลังลงสู่เศรษฐกิจฐานรากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผู้หลักผู้ใหญ่ควรใจเย็นอย่าเป็นไปตามแรงยุของคนข้าง ๆ ควรใช้หลัก “ให้คนคิดเป็นคนทำ”
ประการที่สี่ สี่รัฐมนตรีได้ต่อสู้ในสนามรบผ่านงบประมาณกฎหมายกู้เงินต่าง ๆ ให้ผู้หลักผู้ใหญ่และผู้มี “ภาวะตัณหา” ทั้งหลายสำเร็จแล้ว ก็จะถูกขจัดออกไปทันทีมันจะเป็นการฝืนกระแสแห่งความดีงาม เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ลูกหลานในอนาคตของพวกเราทุกคน เหมือนกับ เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพลผู้เสียสละช่วยเหลือให้ทุกท่านเข้าสู่อำนาจในขณะนี้ แบบนี้คือ คุณธรรมความดีเหรอ
โดยสรุป เสนอให้ “คงรูป” เดิมไปก่อนใช้หลัก The Status Quo จะทำให้บ้านเมืองและประชาชนเดินหน้าต่อได้ดีกว่าเพราะถ้าจะเปลี่ยนแปลง รัฐบาลต้องมีเหตุผลเพียงพอว่า พวกเขาผิดอะไร ผลงานก็มีเป็นทุนให้เห็นอยู่ เอาคนใหม่เข้ามา จะได้ไม่เท่าเสีย ทั้งกระแสสังคมและความดีงามต่อเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังเฝ้าดูการประพฤติปฏิบัติตนทางการเมืองของผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล