เมืองไทย 360 องศา
หลังจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดแบบแย้มๆ ว่า การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นอาจต้องเลื่อนออกไปอีก เนื่องจากงบประมาณที่เคยกำหนดเอาไว้เพื่อการนี้ ถูกโยกมาใช้สำหรับการเยียวยาผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ไปหมดแล้ว ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการ “โยนหินถามทาง” ไว้ล่วงหน้า
ก็ได้ผล ทำให้หลายฝ่ายดาหน้าออกมารุมถล่มทันที โดยเฉพาะบรรดาพรรคฝ่ายค้าน รวมไปถึงกลุ่มการเมืองที่เป็นแนวร่วมพวกเดียวกัน โดยกล่าวว่า รัฐบาลพยายาม “ยื้อเลือกตั้ง” ออกไป
ทำให้ในวันรุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องออกมาสยบกระแสโจมตีดังกล่าวด้วยการยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปลายปีนี้ “แต่จะเป็นการเลือกตั้งในบางพื้นที่ บางระดับ” เท่านั้น โดยไม่มีการบอกรายละเอียดเพิ่มเติมอะไรมากไปกว่านี้ ทำให้คาดเดากันไปว่า อาจเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือไม่ หรือเป็นการเลือกตั้งในระดับอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ทาง รมว.มหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องรอความพร้อมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะต้องกำหนดเขตเลือกตั้ง และล่าสุด ทาง กกต. ก็ยืนยันเรื่องงบประมาณสำหรับการจัดการเลือกตั้งที่คาดว่า ประมาณ 800 ล้านบาท โดย นายจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามกฎหมายใหม่ทาง กกต. มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการเลือกตั้ง ส่วนการดำเนินการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา จะใช้งบประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย จะเป็นคนดูแลในส่วนนี้
ดังนั้น หากพิจารณาจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นหลัก ก็จะรับรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปลายปีนี้ ส่วนจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบใดนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งค่อยมาว่ากันอีกที
อย่างไรก็ดี สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ถือว่าร้างรากันไปนานหลายปี นับตั้งแต่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้หลายคนต่างเฝ้ารอทั้งพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองในท้องถิ่น รวมไปถึงระดับชาติที่มีบางคน บางกลุ่ม มีการเปิดตัวล่วงหน้ากันไปแล้ว ทั้งนักการเมืองระดับชาติบางคนที่ถึงกับไม่ยอมลงสมัคร ส.ส.เพื่อรอลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็มีให้เห็นหลายคน
เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าในระดับใด โดยเฉพาะระดับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะมีพรรคไหนมีความพร้อมสำหรับสนามเลือกตั้งท้องถิ่นบ้าง พรรคฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล จะมีความพร้อมมากน้อยกว่ากัน
แน่นอนว่า หากเป็นสนามในระดับการช่วงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ที่ถือว่าเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดมาทุกครั้ง และคราวนี้หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปีนี้ก็ต้องบอกว่า เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา สำหรับในนามพรรคการเมืองถือว่ายังไม่มีพรรคไหนพร้อม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน อาจจะมีเพียงการเปิดตัวของบางคน เช่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ประกาศลงสมัครในนามอิสระ แม้ว่าในทางกลยุทธ์ อาจจะไม่ได้ตัดขาดออกจากพรรคเพื่อไทย เพราะยังต้องการฐานเสียงจากกลุ่มการเมืองดังกล่าว
แต่ขณะเดียวกัน เมื่อ นายชัชชาติ ลงสมัครในนามอิสระ มันก็ทำให้พรรคเพื่อไทยที่ถือว่าต้องการพื้นที่ในสนามเลือกตั้งในเมืองหลวงมาตลอด และที่ผ่านมา ก็ได้วางตัวนายชัชชาติ เอาไว้ล่วงหน้านานแล้ว เมื่อมีการแยกวงออกไปแบบนี้ ทางหนึ่งมันก็เหมือนการตอกย้ำในเรื่องความแตกแยกภายในพรรคนี้อย่างชัดเจนขึ้น อีกทั้งไม่ว่าจะออกทางไหน ไม่ว่าจะส่งผู้สมัครลงสู้ มันก็เหมือนกับการตัดคะแนนกันเอง หากไม่ส่งลงสมัครก็เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยในสายของ “เจ๊หน่อย” ที่บอกว่าเป็น “เจ้าแม่เมืองหลวง” ก็จะเสียหาย และที่สำคัญก็คือ จนถึงบัดนี้พรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีรายชื่อสำหรับตัวแทนของพรรคในการลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เลย ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจต้องกลืนเลือดไม่ส่ง และหันมาสนับสนุน นายชัชชาติ ตามที่มีรายงานข่าวออกมาก่อนหน้านี้
ถัดมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือว่าเป็นระดับ “เจ้าของแชมป์” เก่า เพราะผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็ถือว่ามาจากพรรคนี้ ก่อนที่โชคชะตาพลิกผันมาอยู่ในขั้วของ “บิ๊กตู่” ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. แต่มาถึงตอนนี้ ตั้งแต่แพ้การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ต้องสูญพันธุ์ในพื้นที่เมืองหลวง มาถึงตอนนี้ดูทรงแล้วก็ถือว่า “ยังไม่ฟื้น”
มิหนำซ้ำ บรรดาแกนนำของพรรคหลายคนต่างแยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ เช่น กรณ์ จาติกวณิช มาตั้งพรรคกล้า ที่แม้จะประกาศว่าไม่ลงสมัครในสนามท้องถิ่น จะเน้นระดับชาติก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ เมื่อถึงเวลาอาจมีการส่งผู้สมัครในนามพรรคก็ได้
ส่วน พรรคก้าวไกล ที่ถือว่าน่าจับตาว่าจะส่งใครลงสมัคร รวมไปถึงในสนามในต่างจังหวัดทั่วประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาได้สร้างกระแสร้อนแรงได้ไม่น้อย แต่เมื่อถูกยุบพรรคอนาคตใหม่ ระดับนำของพรรค เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกตัดสิทธิการเมืองสิบปี ทุกอย่างมันเลยกร่อย แต่ถึงอย่างไร สำหรับพรรคการเมืองนี้ก็ยังน่าสนใจหากเป็นการเลือกตั้งที่เป็นเขตเมืองทั้งหมด
สำหรับพรรคที่ต้องจับตามองอย่างยิ่งในเวลานี้ ก็คือ พรรคพลังประชารัฐ ว่าจะส่งใครลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. รวมไปถึงความพร้อมหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริงๆ
แน่นอนว่า หากพิจารณากันในเรื่องอำนาจรัฐแล้วก็เชื่อว่ามีอยู่เต็มเปี่ยม แต่สำหรับกระแสอาจต้องแยกกันพิจารณาระหว่างท้องถิ่นในต่างจังหวัด กับ ระดับสนามเมืองหลวง เพราะมีความแตกต่างกัน ในต่างจังหวัดอาจมีฐานเสียงของส.ส.บวกกับอำนาจรัฐช่วยค้ำจุน แต่สำหรับในสนามเมืองหลวง อำนาจและอิทธิพลเหล่านั้นอาจช่วยได้ไม่เต็มร้อย แต่ต้องใช้ “กระแส” เป็นหลัก
คำถามก็คือ สำหรับพรรคพลังประชารัฐที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคใหม่ เปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่ ตามข่าวบอกว่าจะเป็น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นกระแสจะเป็นแบบไหน “ยี้” หรือ “ไม่ยี้”
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวเท่าที่เห็นยังมั่นใจว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนมีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะในสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่สำหรับในระดับท้องถิ่นต่างจังหวัดที่มักจะไม่ค่อยผูกผันกันกับระดับพรรคมากนัก เป็นเรื่องของแต่ละครอบครัว แต่ละตระกูล ที่แม้จะอยู่พรรคเดียวกัน แต่ก็ลงแข่งขันกันเองก็มีให้เห็น
ดังนั้น หากให้พิจารณากันแบบภาพรวมๆ แล้ว นาทีนี้ถือว่ายังไม่มีใครพร้อมสำหรับการลงสนามท้องถิ่นที่ต้องมาถึงตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป แต่ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งคราวนี้น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่พลิกโฉมการเมืองไทยไปอีกขั้น อย่างน้อยจะได้เห็นบทบาทของแต่ละพรรคการเมือง รวมไปถึงตัวแทนของพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และที่สำคัญ พิจารณาจากแนวโน้มแล้วการแข่งขันจะสูงในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์ กับฝ่ายที่เรียกว่า ก้าวหน้า ส่วนใครจะจริงหรือปลอม ค่อยมาว่ากันอีกที !!