“ทอน” เดือด จวก “ลุงตู่” แรง ทัศนะเป็นอุปสรรคต่อ ปชต. กลัวประชาชน กลัวการตรวจสอบ กลัวสูญเสียอำนาจ เหตุยื้อเลือกตั้งท้องถิ่น พร้อมปลุกทวงสิทธิ์ “พี่ศรี” บี้ กกต. ชงเรื่องทันที มิเช่นนั้น ฟ้องทั้งคู่ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (17 มิ.ย. 63) เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โพสต์หัวข้อ “[ กว่า 6 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น : ประชาชนไม่พร้อมหรือพลเอกประยุทธ์ไม่พร้อม? ]”
โดยระบุว่า “การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด การเลือกตั้งท้องถิ่น คือ รากฐานของประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในระดับชาติ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลัวประชาชน ไม่ไว้วางใจประชาชน กลัวประชาธิปไตยและการตรวจสอบ กลัวสูญเสียอำนาจ พวกเขาจึงกลัวการเลือกตั้งท้องถิ่น
ผมขอยกตัวอย่างเรื่องงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออธิบายว่าท้องถิ่นสำคัญอย่างไรกับการพัฒนาประเทศ
งบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปีงบประมาณ 2563 มีมากถึง 8 แสนล้านบาท งบส่วนนี้คืองบที่ตามกฎหมายตั้งไว้เพื่อให้ตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนเป็นผู้ใช้ ไม่ต้องขอส่วนกลาง เพื่อสามารถแก้ปัญหาประชาชนได้รวดเร็วและตรงจุด ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากที่สุด
แต่ปัจจุบันงบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับจำนวน 8 แสนล้านบาทต่อปีนี้ กลับบริหารโดยคนที่แต่งตั้งจาก คสช. ซึ่งผิดวัตถุประสงค์การพัฒนาประเทศที่ต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจการคลังในการจัดการตนเองผ่านการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในช่วงหลังรัฐประหาร จนถึงก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 คสช. ได้ใช้อำนาจประกาศคำสั่ง คสช. หลายฉบับที่ทำลายประชาธิปไตยในท้องถิ่น เช่น ประกาศฉบับที่ 85/2557 ยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ และตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการเป็นหลัก, ฉบับที่ 88/2557 เปิดโอกาสให้ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นฉบับที่ 86/2557 ยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพ และฉบับที่ 64/2559 ปลดผู้ว่ากรุงเทพในขณะนั้น และตั้งอัศวิน ขวัญเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในหลายวาระหลายโอกาส ว่า ประชาชนไทยยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือประเทศไทยไม่เหมาะสมต่อการกระจายอำนาจที่จะส่งเสริมให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง
ทัศนะดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เป็นทัศนะแบบเจ้าขุนมูลนาย ที่เชื่อว่า ประชาชนไม่พร้อมที่จะกำหนดอนาคตตนเอง และสอดรับกับการรวมศูนย์อำนาจไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพวก เป็นทัศนะที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ไม่สอดรับกับยุคสมัยที่ความรู้และพลังในการสร้างสรรค์เดินทางจากทั่วโลกถึงประชาชนทุกพื้นที่ผ่านอินเทอร์เน็ต
การเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นไปเรื่อยๆ จึงตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหารต้องการรักษาฐานอำนาจไว้ให้นานที่สุด และใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบประมาณของท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการคงไว้ซึ่งอำนาจของตนเอง
ประชาชนไม่ได้ต้องการการสงเคราะห์อย่างอนาถาจากรัฐอยู่ร่ำไป ประชาชนไม่ได้ต้องการบัตรคนจนไปตลอดกาล พวกเขาต้องการอำนาจที่จะกำหนดอนาคตของเขาเอง อำนาจที่จะสร้างงาน สร้างความเจริญในท้องถิ่นโดยไม่ต้องของอนุญาตจากรัฐราชการรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง
การเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ เพราะงบประมาณถูกนำไปใช้เพื่อการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส เป็นเหตุผลที่ไร้สาระ เรามีงบประมาณเพียงพอที่จะทำทั้งสองอย่างได้พร้อมกันถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ
วันนี้ผ่านการเลือกตั้งระดับชาติมา 1 ปี 3 เดือนแล้ว รัฐบาลยังไม่เคยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น พวกเราคณะก้าวหน้าจึงเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนต่อการเลือกท้องถิ่นให้ชัดเจน
พวกเราคณะก้าวหน้าเรียกร้องให้รัฐประกาศการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยทันที
พวกเราเรียกร้องประชาชนคนไทย ให้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันชอบธรรมของพวกเรา ในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของเราเองปฏิรูประบบราชการ ยุติการรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพ ข้อเสนอนี้ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดเดียวที่จะสร้างประเทศไทยที่มีอนาคต
ผมขอยืนยันว่า ผมจะนำคณะก้าวหน้าร่วมรณรงค์เรื่องยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจให้ท้องถิ่น และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศ
หมดยุคที่ราชการส่วนกลางออกแบบกำหนดอนาคตให้ประชาชนทั้งประเทศ คืนอำนาจการจัดสรรภาษี และทรัพยากรให้ท้องถิ่น ยุติการรวมศูนย์อำนาจและงบประมาณที่ส่วนกลาง เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นแสดงศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่ สร้างประเทศไทยที่ก้าวหน้ารุ่งเรือง ด้วยการสร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็ง"
ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้ส่งหนังสือไปยังรัฐบาลเพื่อยืนยันความพร้อมในการควบคุม จัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น
โดย นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ตามกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด ที่ผ่านมา สมาคมฯได้ติดตามการออกระเบียบและประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นของ กกต. ก็พบว่าระเบียบแล้วเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2563
ล่าสุด เลขาธิการ กกต.ก็ออกมายืนยันความพร้อมจัดการเลือกตั้งโดยมีงบประมาณอยู่แล้ว 800 ล้านบาท ดังนั้น การที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ระเบียบต่างๆ ยังไม่พร้อม เงินไม่มี จึงไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ ตนเห็นว่า นับตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจตั้งแต่ 2557 องค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่ง ผู้บริหารท้องถิ่นหมดวาระ แต่ยังอยู่ปฎิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คสช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว 6-7 ปี ขณะที่บางแห่งไม่มีผู้บริหาร ปลัดท้องถิ่นทำหน้าที่รักษาการ ก็มีการตั้งคนใกล้ชิดขึ้นมาช่วยทำหน้าที่ ทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะไปตรวจสอบได้
ทั้งเห็นว่า ขนาดนายกรัฐมนตรียังอ้างว่า ตนเองมาจากการเลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตย ถือว่าการเลือกตั้งเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการได้ตัวแทนประชาชน มาใช้อำนาจ ดังนั้น ก็ควรที่จะให้ท้องถิ่นมีการเลือกตั้งได้แล้ว
การประวิงเวลาไม่มีประโยชน์ ข้ออ้างว่าไม่มีงบฯ ถ้ามีปัญหาก็สามารถใช้งบกลางจัดการเลือกตั้งได้ หรือถ้าบอกว่า กลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะ กกต.ยังสามารถจัดการเลือกตั้งซ่อมที่ลำปางได้ เพราะฉะนั้น กกต.จึงต้องแอกชันให้มากกว่านี้ โดยทำหนังสือไปถึงรัฐบาลว่า กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยมีงบประมาณเพียงพอ
“ถ้ารัฐบาลเพิกเฉย ประวิงเวลา หนังสือที่ผมนำมายื่นจะเป็นหลักฐานสำคัญที่จะเอาผิดทั้ง กกต. และ ครม. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฉะนั้น การเลือกตั้งควรจะมีขึ้นภายในปี 2563 ถ้าจะดีควรจะมีการเลือกตั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม เพราะมีช่วงเวลาให้ผู้สมัครได้หาเสียง”
นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณ ยังเห็นว่า หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ควรจะมีการเลือกพร้อมกันในทุกระดับ ไม่ใช่จะมาแบ่งว่าต้องระดับไหนก่อน เพราะการจัดพร้อมกันจะทำให้เกิดการตื่นตัวของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเคลื่อนไหว เพราะผู้สมัคร และพรรคการเมืองจะใช้เงินในการหาเสียง จัดทำป้าย ดีว่ารัฐบาลแจกเงินให้คนไปเที่ยว ซึ่งคิดว่า ถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับพร้อมกันจะมีเงินหมุนเวียน 7-8 หมื่นล้าน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมได้อย่างมหาศาล”
ทั้งนี้ เรื่องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) ได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แล้ว และเตรียมที่จะส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
โดยในร่าง พ.ร.บ.นั้น มีเรื่องของงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย ซึ่งงบประมาณนี้จะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป หากไม่อยากมีปัญหาในเรื่องการใช้งบประมาณก็ไปจัดการเลือกตั้งหลังวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นงบปี 2564 อยู่แล้ว
“ที่สื่อมวลชนถามวันก่อน หมายถึง 2-3 เดือน แต่ตอนที่สื่อถามนั้นมันวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน มันจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ จึงจะไปจัดการเลือกตั้งหลังวันที่ 1 ตุลาคม เพราะงบประมาณปรากฏในงบประมาณปี 64 อยู่แล้ว”
เมื่อเป็นเช่นนี้ ดูเหมือนนี่จะเป็นอีกประเด็นร้อน ที่รัฐบาลจะต้องรับมือกับกระแสการเคลื่อนไหวของการเมืองนอกสภา ยิ่งท่าทีของ “ธนาธร” พร้อมปลุกระดมมวลชนออกมาเรียกร้องสิทธิ์อยู่แล้วด้วย ยิ่งเห็นชัดว่า เรื่องนี้กัดไม่ปล่อยแน่
รวมทั้งกรณี “พี่ศรี” ยื่นหนังสือกับ กกต. ก็เช่นเดียวกัน เมื่อ กกต.มีความพร้อมจัดการเลือกตั้งทุกอย่าง รัฐบาลจะไม่พร้อมได้หรือไม่ และจะถือว่าเข้าข่ายความผิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ “พี่ศรี” สำทับเอาไว้แล้วหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
และอะไร ไม่สำคัญเท่ากับ ข้อกล่าวหาทางการเมือง ถ้าประชาชนเชื่อตามที่ “ธนาธร” ปลุกเร้า และตั้งข้อสงสัยกับรัฐบาลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นรัฐบาลมีโจทย์เพิ่มขึ้นจากปัญหาสารพัดที่รุมเร้าอยู่อย่างแน่นอน สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้ อาจมิใช่การตอบโต้ แต่เป็นการทำความเข้าใจให้ถ่องแท้นั่นเอง