xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ยื้อ-แช่แข็งเลือกตั้งท้องถิ่น กล้าสวนทางลมก็ลองดู!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 17 มิถุนายน 2563 ตอน ยื้อ-แช่แข็งเลือกตั้งท้องถิ่น กล้าสวนทางลมก็ลองดู!?

พูดถึงการเลือกตั้ง ท้องถิ่น หากไม่เกิดวิกฤติโควิด-19 วันเวลานี้ กลางปี พ.ศ.2563 การเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทย น่าจะมีการเปิดสมรภูมิเลือกตั้งท้องถิ่นกันแล้ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์แทรกซ้อนทำให้เลือกตั้งท้องถิ่นเป็นหนังคนละม้วน คือยังเป็นไม่มีอะไรเกิดขึ้น กลับเป็นประเด็นถกเถียงจะเลือกตั้งได้หรือไม่

เพราะตามปฏิทินเดิมจริงๆ ที่ทั้งกระทรวงมหาดไทย และคนในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับสัญญาณมาจากฝ่ายรัฐบาล ก็คือ รัฐบาลจะเริ่ม ปลดล็อก เลิกแช่แข็ง การเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับมาร่วม หกปี นับแต่คสช.ทำรัฐประหารเมื่อ พ.ค.2557

สัญญาณดังกล่าว จึงทำให้ที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานกกต.มีการเตรียมพร้อมรับมือกับการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้แต่เนิ่นๆ แล้ว เพราะมีข่าวมาตลอดว่า รัฐบาลจะกดปุ่มไฟเขียวให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง กันกลางปี 63

คือประมาณ กรกฏาคมหรือช้าสุดก็คือไม่เกินสิงหาคม ปีนี้ ด้วยการให้มีการเลือกตั้งในตำแหน่งสำคัญๆอย่าง ผู้ว่ากรุงเทพมหานครหรือนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด หรืออบจ.ก่อน เพื่อนำร่องจากนั้นค่อยลงไปในระดับล่างๆ ถัดไปเช่นการเลือกนายกเทศมนตรี ของเทศบาลทั่วประเทศ

จึงทำให้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีการเปิดกองทำงานเป็นหน่วยงานใหม่ขึ้นมา เป็นการเฉพาะเพื่อรองรับภารกิจนี้มาแต่หัววัน คือ “กองการเลือกตั้งท้องถิ่น” เพื่อรองรับภารกิจการประสานงานการเลือกตั้งท้องถิ่นร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ส่วน สำนักงานกกต. ก็อย่างที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการสำนักงานกกต.ออกมาเปิดเผย คือ สำนักงานกกต.มีการเตรียมพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตลอด โดยมีการกันงบประมาณของกกต.ไว้เพื่อรับภารกิจนี้ ในกองคลังของกกต.ร่วม 800 ล้านบาท

ซึ่งแม้การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศจะต้องใช้งบร่วมๆ ไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท แต่เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส่วนใหญ่ ทาง อปท. รับผิดชอบอยู่แล้ว เว้นแต่ อปท.งบไม่พอ ก็จะขอรัฐบาล จึงทำให้ สำนักงาน กกต. ไม่ต้องกันเงินไว้มาก

แต่แผนการทุกอย่าง ที่ทั้งมหาดไทย -กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น -สำนักงานกกต. และอปท.ทั่วประเทศ เตรียมการไว้ ก็ต้อง พับแผนไว้ทั้งหมด จากวิกฤตโควิดฯ แทำให้ ต้องมีการเลื่อนการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นล็อตแรก ที่เดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงสิงหาคม ออกไปด้วย

กลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างหนัก ว่า กำลังเป็นอีกหนึ่งครั้ง ที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ค่อยชอบการเลือกตั้ง และการกระจายอำนาจ

กำลังหาช่องทาง เล่นตุกติก คิดจะแช่แข็ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ให้มีการเลือกตั้งออกไปอีก หลังจากเคยยื้อมาแล้วหลายรอบ

เหตุที่เอาเรื่องไม่มีงบประมาณมาอ้าง แล้วจะไม่ไฟเขียวให้มีเลือกตั้งท้องถิ่น จึงฟังไม่ขึ้น จนสุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องออกมารันตีว่า จะพยายามจัดเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ให้ได้สักอย่างภายในปีนี้

สำหรับเรื่องงบประมาณ ที่ว่าไม่มีปัญหา ก็เนื่องจาก ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในที่ประชุมครม.เมื่อวันอังคารสดๆร้อนๆ ภายใต้กรอบวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ก็มีการเปิดเผยกันไว้ว่า งบส่วนหนึ่ง สามารรถจัดสรรให้กับกกต.และท้องถิ่น เพื่อไปจัดการเลือกตั้ง ส่วนงบประมาณปี2563 มีการกันไว้สำหรับเลือกตั้งท้องถิ่นปีนี้แล้วเช่นกัน

การเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องไม่มีการยื้ออีกต่อไปเว้นเสียแต่ วิกฤตโควิดฯ กลับมาระบาดซ้ำรอบสอง เท่านั้น ถึงตอนนี้ พลเอกประยุทธ์ ที่คงไม่กลับคำ หาทางยื้อไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น

คาดว่า ไม่เกินธันวาคม นี้ ได้ปลดล็อก เลิกแช่แข็ง เลือกตั้งท้องถิ่นแน่ ตามที่พลเอกประยุทธ์ให้คำมั่นไว้

แต่หากไม่อยากปลดล็อคเลือกตั้งท้องถิ่นจริงๆ รัฐบาลก็สามารถทำได้ เพราะกฎหมายได้ให้อำนาจไว้กับคสช. ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยไม่มีการล็อคกำหนดเวลาตายตัว เมื่อวันนี้ คสช. ไปแล้ว ครม. ประยุทธ์ก็เจ้ามารับไม้ต่อ ซึ่งจะไม่ให้มีเลือกตั้งท้องถิ่นก็ได้ ก็อยู่ที่ว่า จะกล้าสวนทางลม ความต้องการประชาชน หรือไม่

หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะทำให้ อปท.ทั่วประเทศ เกิดความคึกคักอย่างมาก เพราะวันนี้มี อปท.ที่ถูกแช่แข็ง ไม่มีการเลือกตั้งมา หกปี รวม ๗,๘๕๒ แห่ง

ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออปท. แยกเป็นดังนี้ 1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๗๖ แห่ง 2.เทศบาล ๒,๔๕๔ แห่ง ประกอบด้วยเทศบาลนคร ๓๐ แห่ง ,เทศบาลเมือง ๑๘๗ แห่ง ,เทศบาลตำบล ๒,๒๓๗ แห่ง

3.องค์การบริหารส่วนตำบล ๕,๓๒๐ แห่ง และ4. องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) ๒ แห่ง

การเข้าชิงอำนาจผู้บริหารและสมาขิกสภาท้องถิ่นจะสู้กันสุดๆทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ กระแสเงินสด ที่จะใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น หลายล็อต ก็จะทำให้ เศรษฐกิจในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คึกคัก เงินสะพัด ตามไปด้วย

เพราะ ประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น มาร่วมหกปี หากเปิดศักราชมา รับรองได้ว่า ผู้สมัครแต่ละคน แต่ละพรรค เตรียมกระสุนดินดำ ยิงกันไม่อั้น มีเท่าไหร่ ก็สู้หมด เพื่อให้ชนะเลือกตั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น