xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ระดมสมองจัดทำข้อเสนอยุติปัญหาล่วงละเมิดนักเรียน ชี้โครงสร้างเชิงอำนาจทำเด็กอาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.ร่วมมือภาคีเครือข่าย ระดมสมองจัดทำข้อเสนอรัฐบาล-หน่วยงานเกี่ยวข้อง หวังยุติปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียน ชี้โครงสร้างสังคม-วัฒนธรรมเชิงอำนาจ ทำเด็กอายไม่กล้าเปิดเผย ส่งผลครูใช้เป็นเครื่องมือในการล่วงละเมิดทางเพศ

วันนี้ (17 มิ.ย.) นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้เห็นชอบให้มีการศึกษาปัญหาและแนวทางการยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กนักเรียนโดยครู หรือบุคลากรทางการศึกษา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง โดยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา และได้แลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงต่อเด็กในสถานศึกษา พบว่าการที่ครู บุคลากรทางการศึกษาล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กนักเรียน สะท้อนถึงการขาดความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิเด็ก เป็นการสร้างและตอกย้ำวัฒนธรรมการใช้อำนาจของครูที่มีต่อเด็ก และการขาดระบบคุ้มครองเด็กที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในสถานศึกษา การล่วงละเมิดเด็กนักเรียนนี้มักเกิดกับเด็กที่ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ หากเป็นกรณีที่เกิดในต่างจังหวัดก็อาจมีเรื่องอิทธิพลในท้องถิ่นมาเกี่ยวข้อง และนำไปสู่การไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทั้งๆ ที่เป็นฐานความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้ นอกจากนี้ การล่วงละเมิดต่อเด็กไม่ได้จำกัดวงเฉพาะครูอาจารย์ที่ใกล้ชิดเด็กเท่านั้น แต่คนในครอบครัวก็อาจเป็นผู้ล่วงละเมิดต่อเด็กได้เช่นกัน

นางประกายรัตน์กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาจึงต้องสร้างกลไกในการคุ้มครองเด็กที่มีประสิทธิภาพ โดยนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน สามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและป้องกันการกระทำที่ไม่เหมาะต่อเด็กนักเรียน ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งเด็กนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป

“น่ายินดีว่าเมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ นำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย-มัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่ง กสม.จัดทำขึ้น”

ด้าน น.ส.อารีวรรณ จตุทอง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า อีกปัญหาที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่แล้วเด็กนักเรียนหรือผู้เสียหายมักจะไม่กล้าพึ่งพากระบวนการยุติธรรมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยโครงสร้างสังคมปิตาธิปไตย และวัฒนธรรมเชิงอำนาจ ทำให้เด็กไม่กล้าเปิดเผยเรื่องการถูกละเมิดทางเพศให้ผู้ปกครองหรือบุคคลในครอบครัวทราบ เนื่องจากวุฒิภาวะ การตัดสินใจ ความกลัว เห็นว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย ทำให้ครูบางคนอาศัยจุดอ่อนนี้เป็นเครื่องมือในการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก แม้จะมีบุคคลอื่นร่วมรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ก็มักจะไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล เพราะครูผู้กระทำผิดนั้นมักเป็นที่ยอมรับของบุคลากรในโรงเรียน ทำให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกระทำล่วงละเมิดทางเพศซ้ำๆ เรื่อยไปโดยไม่ทราบวิธีการในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายบางกรณีบุคคลอื่นกลับเห็นว่าการกระทำล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสังคม ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะทั้งตัวเด็กผู้ถูกละเมิด พยานแวดล้อม หรือแม้กระทั่งผู้บริหารของโรงเรียนก็ไม่มีใครอยากจะเอ่ยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น การล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนจึงเป็นเหมือนฝีหนองของระบบการศึกษาไทยที่ต้องเร่งรีบรักษาอย่างเป็นระบบ เพื่อมีมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม กสม.จะมีการเชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNICEF) มาร่วมแลกเปลี่ยนในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ก่อนประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จัดทำร่างข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี








กำลังโหลดความคิดเห็น