xs
xsm
sm
md
lg

วช.เปิดตัวโครงการวิจัยคาดอนาคตไทยอีก 20 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วช.เปิดตัวโครงการวิจัยท้าทายประเทศ ขับเคลื่อนและสร้างเครือข่ายวิจัยพยากรณ์ไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ใน 10 มิติสำคัญ ตั้งแต่โครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและภาษาไทย ไปจนถึงการเมือง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงเปิดตัวโครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเพื่อคาดการณ์อนาคตของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อวันที่ 16 ม.ค.63 ณ โรงแรมรามาการ์เดน

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงการเปิดโครงการดังกล่าวว่า เป็นโครงการที่ฝากให้นักวิจัยที่ช่วยมองภาพประเทศไทยในอนาคตอีก 20 ปี เพื่อการวางแผนกำหนดแนวทางพัฒนาและตั้งรับสิ่งที่ไม่คาดหวัง ซึ่งอนาคตนั้นมีความไม่แน่นอนเยอะ แต่เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ซึ่งการใช้เครื่องมือวิจัยที่เหมาะสมจะทำให้เกิดความแม่นยำขึ้น

โครงการวิจัยนี้จะมุ่งเน้นใน 10 มิติ คือ 1.ประชากรและโครงสร้างสังคม 2.สังคม ชนบท ท้องถิ่น 3.การศึกษา 4.สิ่งแวดล้อมและพลังงาน 5.เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม 6.เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ 7.วัฒนธรรมและภาษาไทย 8.การเมือง 9.บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงประเทศ และ 10.คนและความเป็นเมือง

ศ.นพ.สิริฤกษ์กล่าวถึงมิติด้านประชากรว่า ในปี พ.ศ.2563 ประชากรไทยมีประมาณ 66.5 ล้านคน โดยช่วง 30-40 ปีก่อนเป็นช่วงที่ประชากรเติบโตมาก แต่ตอนนี้เริ่มชะลอ โดยสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อยในอัตรา 51:49 ซึ่งจำนวนคนไทยจะยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอีก 8-10 ปีจะมีจำนวนสูงสุดที่ 67 ล้านคน จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง โดยปี '62 ที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรสูงอายุ และปี '63 เป็นต้นไปประชากรผู้สูงอายุมากกว่าวัยเด็ก และคาดว่าอีก 20 ปีสัดส่วนจะเปลี่ยนไป ทุกๆ 3 คนจะมีผู้สูงอายุ 1 คน

ศ.นพ.สิริฤกษ์ระบุว่า แต่ละมิติมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันหมด การเปลี่ยนแปลงด้านใดด้านหนึ่งย่อมส่งผลอีกด้านหนึ่ง เช่น มิติด้านประชากรที่เด็กเกิดน้อยลงคนมีอายุยืนมากขึ้นส่งผลต่อรูปแบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพ จึงยากจะบอกว่ามิติใดสำคัญกว่ามิติใด ดังนั้นการบริหารจัดการวิจัยจึงสำคัญ

การศึกษาในโครงการวิจัยประเทศไทยในอนาคตเพื่อทำฉากทัศน์และภาพของประเทศไทยทุกๆ ช่วง 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี มีระยะเวลาวิจัย 1 ปี และจะเผยผลการศึกษาเป็นระยะๆ ในอีก 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือนข้างหน้า โดยมีนักวิจัยแกนนำ 50 คนจาก 8 หน่วยงาน ร่วมวิจัยอย่างเป็นระบบ มีนักวิจัยในโครงการ 200 คน และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนอีก 1,000 คน โดยมีระยะวิจัย 1 ปี








กำลังโหลดความคิดเห็น