รอยเตอร์ - ผู้ประท้วงหลายร้อยคนในอินเดียออกมาเดินขบวนคัดค้านร่างกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ซึ่งจะให้สิทธิ์ความเป็นพลเมืองแก่ชนกลุ่มน้อยจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย โดยยกเว้นเฉพาะชาวมุสลิม
อามิต ชาห์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยอินเดีย ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายสัญชาติ (Citizenship Amendment Bill- CAB) ต่อสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้านประกาศจุดยืนต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำศาสนามาเป็นเกณฑ์พิจารณาการให้สัญชาติอินเดีย
ร่างกฎหมายนี้เคยถูกเสนอมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2016 ระหว่างที่ โมดี เป็นนายกฯ สมัยแรก โดยเสนอให้มีการพิจารณามอบสัญชาติอินเดียแก่ชาวบังกลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถานที่ไม่ได้นับถืออิสลาม และอพยพเข้ามาอยู่ในอินเดียก่อนปี 2015
นักการเมืองฝ่ายค้านและผู้ประท้วงในหลายเมืองทั่วอินเดียระบุว่า ร่างกฎหมายนี้จงใจกีดกันชาวมุสลิม ซึ่งถือว่าละเมิดรัฐธรรมนูญอินเดียซึ่งยึดแนวทางแบบโลกวิสัย (secular) หรือเป็นกลางทางศาสนา
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรี ชาห์ และพรรคภารติยะชนตะ (BJP) ซึ่งได้ชูร่างกฎหมาย CAB เป็นหนึ่งในคำมั่นสัญญาระหว่างหาเสียง ยืนยันว่านี่คือสิ่งจำเป็น
“ชาวฮินดู ชาวพุทธ ชาวซิกห์ ชาวเชน ชาวปาร์ซี และชาวคริสต์ในประเทศทั้งสามนี้ ต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานมาโดยตลอด” ชาห์ กล่าว
ผู้ประท้วงในรัฐอัสสัมซึ่งเป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่เคยคัดค้านร่างกฎหมายนี้มาแล้ว ออกมาชุมนุมปิดกั้นถนน เผายางรถยนต์ และนำสีมาพ่นกำแพงเป็นสโลแกนต่อต้านข้อเสนอของรัฐบาลโมดี
กลุ่มนักศึกษารณรงค์ให้มีการปิดพื้นที่ 4 เขตของรัฐอัสสัมตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ขณะที่ห้างร้าน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และระบบขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ
“เราจะสู้และคัดค้านร่างกฎหมายนี้ให้ถึงที่สุด” ซามุจจาล ภัตตะจารยา ที่ปรึกษาสหภาพนักศึกษารัฐอัสสัมให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ พร้อมเผยว่าพลเมืองท้องถิ่นเกรงว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ผู้อพยพหลายหมื่นคนจากบังกลาเทศได้รับสัญชาติอินเดีย
ที่รัฐคุชราตซึ่งเป็นบ้านเกิดของโมดี รวมถึงเมืองกัลกัตตาทางตะวันออก ก็มีชาวอินเดียหลายร้อยคนออกมาเดินขบวนคัดค้านร่างแก้ไขกฎหมายสัญชาติ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการกว่า 1,000 คนในอินเดียออกคำแถลงร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายนี้ทันที
“สิ่งที่เรากังวลเป็นพิเศษก็คือ การจงใจกีดกันชาวมุสลิมออกจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้จะยิ่งบ่อนทำลายโครงสร้างสังคมแบบพหุนิยมของอินเดีย” คำแถลงระบุ
ทั้งนี้ หลังผ่านการโหวตในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรคบีเจพีครองเสียงข้างมากแล้ว ร่างแก้ไขกฎหมายสัญชาติยังจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งเวลานี้พรรครัฐบาลยังมีเสียงไม่มากพอที่จะดันให้ผ่านได้