เอเอฟพี – กองกำลังทหารอินเดียถูกส่งเข้ารัฐตริปูระ ส่วนรัฐอัสสัมถูกสั่งให้อยู่ในความพร้อมในวันพุธ(11 ธ.ค)เพื่อตรึงกำลังการประท้วงของประชาชนต่อต้านกฎหมายสัญชาติอินเดียฉบับแก้ไขที่อนุญาตให้มีระบบฟาสต์แทร็กในการอ้างขอสัญชาติจากผู้อพยพใน 3 ประเทศเพื่อนบ้านยกเว้นชาวมุสลิม
เอเอฟพีรายงานวันนี้(11 ธ.ค)ว่ากฎหมายสัญชาติอินเดียฉบับแก้ไข CAB (Citizenship Amendment Bill)ที่อื้อฉาวนี้คาดว่าจะผ่านวุฒิสภาอินเดียในวันพุธ(11) ซึ่งสำหรับกลุ่มมุสลิม ฝ่ายค้านอินเดีย และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆได้ชี้ว่า นี่ถือเป็นหนึ่งในจุดยืนเรื่องชาตินิยมของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดีที่ต้องการกีดกันชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่มีประชากรร่วม 200 ล้านคนในอินเดีย แต่เป็นสิ่งที่เขาปฎิเสธ
แต่ทว่าคนจำนวนมากในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียวันพุธ(11)ต้องพบกับการประท้วงยืดเยื้อเป็นวันที่ 3 หลังจากมีการผละงานครั้งใหญ่เมื่อวานนี้(10) ทำการต่อต้านกฎหมายใหม่ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป
ผู้ประท้วงออกมาต่อต้านเป็นเพราะกฎหมายสัญชาติฉบับแก้ไขมีจุดมุ่งหมายต้องการให้สัญชาติแก่ผู้อพยพชาวฮินดูจำนวนมากจากบังกลาเทศในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
ตำรวจอินเดียได้ยิงแก๊สน้ำตาในพื้นที่ต่างๆของเมืองกูวาฮาตี(Guwahati) รัฐอัสสัม จากการที่ผู้ประท้วงจำนวนไม่กี่พันคนพยายามผ่านเครื่องกีดขวางเข้าไป
พบว่ารัฐตริปูระ(Tripura)ได้ปิดสัญญาณอินเตอร์เนตของโทรศัพท์มือถือเพื่อหยุดการแพร่กระจายข่าวปลอมทางโซเชียลมีเดีย อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่ที่นั่น
อาคิล โกกอย (Akhil Gogoi) นักเคลื่อนไหวชาวอินเดียในพื้นที่แสดงความเห็นว่า “หากกฎหมาย CAB ผ่านวุฒิสภาอินเดียในวันนี้ พวกเราร้องขอนักเรียนอินเดียทุกคน ประชาชน แรงงานไร่ใบชาและทุกภาคส่วนของสังคมให้ออกมาลงถนนอีกครั้งในวันพรุ่งนี้เพื่อประท้วง”
เอเอฟพีรายงานว่า ในวันพุธ(11)มีการส่งกำลังทหารเข้าตรึงกำลังในรัฐตริปุระ และได้มีการออกคำสั่งให้กองกำลังเตรียมความพร้อมในที่ตั้งที่รัฐอัสสัม
ร่างกฎหมายสัญชาติฉบับแก้ไข CAB สามารถผ่านสภาผู้แทนราษฎรอินเดียได้สำเร็จหลังเที่ยงคืนของวันอังคาร(10) ซึ่งดิเรค โอ’ไบรอัน(Derek O'Brien) วุฒิสมาชิกฝ่ายค้านในวันนี้(11)แสดงความเห็นว่า ร่างกฎหมายนี้มีความชั่วร้ายที่คล้ายกับกฎหมายนาซีที่ออกมาเพื่อกีดกันชาวยิวยุคปี 30
“ในปี 1935 มีกฎหมายสัญชาติออกมาเพื่อปกป้องประชาชนที่มีสายเลือดเยอรมัน...ในวันนี้เรามีร่างกฎหมายที่ผิดพลาดที่ต้องการพิสูจน์ว่าใครที่เป็นชาวอินเดียที่แท้จริง”
รัฐบาลชาตินิยมฮินดูของโมดีออกมาชี้ว่า ชาวมุสลิมจากประเทศอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ และปากีสถาน ไม่เข้าข่ายสำหรับกฎหมายฉบับนี้โดยให้เหตุผลว่า ชาวมุสลิมไม่ได้เผชิญหน้ากับการกีดกันในประเทศเหล่านี้
นอกจากนี้กฎหมายสัญชาติอินเดียฉบับบแก้ไข "ยังไม่ครอบคลุม" ถึงชนกลุ่มน้อยอื่นที่หนีภัยทางการเมืองหรือการถูกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมทางศาสนาในภูมิภาค เป็นต้นว่า ชาวทมิฬจากศรีลังกา ชาวโรฮิงญาจากพม่า และชาวทิเบตจากพม่า