รอยเตอร์ - องค์การนิรโทษกรรมสากล เปิดเผยวานนี้ (22) ว่า ได้รวบรวมหลักฐานว่าผู้ก่อความไม่สงบจากกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมโรฮิงญาฆ่าพลเรือนฮินดูเป็นจำนวนมากในเดือน ส.ค. ปีก่อน ท่ามกลางความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันตกของพม่า
การตอบโต้ของทหารต่อการโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นกับด่านตำรวจ 30 จุด และฐานทหารในรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ผลักดันให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ และหลายคนกล่าวอ้างว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงก่อเหตุสังหาร ข่มขืน และวางเพลิง
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติได้กล่าวว่า การตอบโต้ของทหารนั้นเทียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์ และกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าอาจกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
การวิจัยขององค์การนิรโทษกรรมสากล เป็นรายงานที่ถูกเผยแพร่ครั้งแรกโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการกระทำทารุณโหดร้ายโดยกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่ (ARSA)
รายงานระบุว่า นักรบสวมหน้ากากของ ARSA ได้สังหารชาวฮินดูไปมากถึง 99 คน ในพื้นที่ที่ใกล้กับหมู่บ้านข่าหม่องเซ่ก หลังเปิดฉากโจมตีด่านรักษาความมั่นคงได้ไม่นาน
องค์การนิรโทษกรรมสากล ยังอ้างพยาน ที่รวมทั้งหญิงฮินดู 8 คน ที่ถูกกล่าวอ้างว่าถูกสมาชิกกลุ่ม ARSA ลักพาตัวไป และบังคับให้เปลี่ยนไปนับถืออิสลาม ซึ่งหญิงบางคนได้กล่าวต่อสื่อก่อนหน้านี้ว่า คนรักของพวกเธอถูกกลุ่มชาวพุทธฆ่า แต่กลับคำพูดในเวลต่อมา โดยระบุ ว่า พวกเธอถูกบีบบังคับโดยคนที่จับตัวไป
เมื่อเดือน ก.ย. เจ้าหน้าที่พม่าได้ค้นพบศพ 45 ศพ ใกล้หมู่บ้านข่าหม่องเซ่ก และกล่าวหาว่า กลุ่ม ARSA เป็นผู้ดำเนินการสังหาร
รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อตัวแทนของกลุ่ม ARSA เพื่อขอความเห็นได้ แต่ ARSA ได้กล่าวในคำแถลงเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ปฏิเสธว่า สมาชิก หรือนักรบของกลุ่มก่อเหตุสังหาร และกระทำทารุณในหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งหมู่บ้านข่าหม่องเซ่ก
องค์การนิรโทษกรรมสากล ยังระบุว่า มีรายงานการสังหารชาวฮินดู 6 คน โดยฝีมือนักรบ ARSA ในวันที่ 26 ส.ค. ใกล้เมืองหม่องดอ
“มันยากที่จะเพิกเฉยต่อการกระทำอันโหดร้ายของ ARSA ที่ทิ้งร่องรอยไว้กับผู้รอดชีวิตซึ่งเราได้พบพูดคุยด้วย” ผู้อำนวยการฝ่ายตอบโต้วิกฤตขององค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุในคำแถลง
“ความรับผิดชอบต่อการกระทำทารุณโหดร้ายเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยกองกำลังรักษาควาามมั่นคงของพม่าในรัฐยะไข่” คำแถลง ระบุ
ARSA ก่อตัวขึ้นจากเหตุการณ์โจมตีก่อนหน้าที่ด่านชายแดนในปี 2559 อะตา อัลลาห์ ผู้นำกลุ่มระบุว่า กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิของโรฮิงญา ที่ถูกกดขี่ข่มเหงยาวนานด้วยเป็นชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติในพม่า
อย่างไรก็ตาม นักข่าวไม่สามารถเดินทางได้อย่างอิสรเสรีไปยังพื้นที่ต่างๆ ในตอนเหนือของรัฐยะไข่ เป็นเวลานานกว่า 18 เดือนแล้ว
“หลังตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับจากบังกลาเทศ และรัฐยะไข่อย่างละเอียด องค์การนิรโทษกรรมสากล ได้สรุปว่า นักรบ ARSA เป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์การสังหารหมู่นี้” องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ พร้อมเรียกร้องให้พม่าอนุญาตให้ผู้สืบสวนสหประชาชาติเข้าถึงพื้นที่ขัดแย้งเพื่อเก็บข้อมูลการกระทำทารุณของ ARSA และทหาร.