xs
xsm
sm
md
lg

คณะมนตรีความมั่นคงแถลงเรียกร้องพม่าสืบสวนข้อกล่าวหาโรฮิงญาโปร่งใส-เปิดทางเข้ารัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหาการกระทำความรุนแรงต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างโปร่งใส และอนุญาตให้ความช่วยเหลือเข้าถึงพื้นที่ในทันที

คณะมนตรีความมั่นคงบรรลุมติข้อตกลงในคำแถลงที่ร่างขึ้นโดยอังกฤษ แม้จะถูกจีนคัดค้านในทีแรกก็ตาม ซึ่งความเคลื่อนไหวของคณะมนตรีครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่คณะทูตเดินทางเยือนบังกลาเทศ และพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์จริงด้วยตนเอง ที่ทั้งอังกฤษ สหรัฐฯ และชาติต่างๆ ได้ประณามว่า การปราบปรามของพม่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ซึ่งพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

ผู้อพยพที่หลบหนีไปบังกลาเทศบอกเล่าถึงการสังหาร การข่มขืน และการลอบวางเพลิงขนาดใหญ่ แต่ฝ่ายพม่าระบุว่า ปฏิบัติที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่นั้นเป็นการตอบโต้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อการโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงของกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญา

คำแถลงของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ระบุว่า สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงให้ความสำคัญต่อการดำเนินการสืบสวนอย่างโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปฏิบัติตามหลักนิติธรรม มุ่งมั่นที่จะดำเนินการต่อผู้กระทำผิดก่อความรุนแรง ที่รวมทั้งความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิด และความรุนแรงต่อเด็ก

ผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาโจมตีด่านความมั่นคงในรัฐยะไข่เมื่อเดือน ส.ค.2560 ทำให้ทหารดำเนินการปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ จนเป็นผลให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ต้องหลบหนีความรุนแรงไปค่ายผู้ลี้ภัยในคอกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ ซึ่งคณะทูตได้เดินทางเยือนค่ายเหล่านั้นเมื่อสัปดาห์ก่อน

คำแถลงยังระบุว่า คณะมีความวิตกอย่างมากต่อขนาดของวิกฤตด้านมนุษยธรรม และสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการทำลายหมู่บ้านอย่างกว้างขวางในรัฐยะไข่ คณะได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา ของบังกลาเทศ และนางอองซานซูจี ผู้นำพม่า และได้เดินทางไปรัฐยะไข่ พื้นที่ที่ความรุนแรงปะทุขึ้น

คณะมนตรีเรียกร้องให้พม่าสรุปข้อตกลงกับหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับการเข้าถึงความช่วยเหลือในรัฐยะไข่ และการช่วยส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจากบังกลาเทศ นอกจากนี้ คณะยังมีความตั้งใจที่จะหารือถึงวิธีที่จะทำให้บังกลาเทศ พม่า และสหประชาชาติทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขวิกฤต และสร้างเงื่อนไขที่ทำให้การส่งผู้ลี้ภัยกลับคืนสู่บ้านของพวกเขาในรัฐยะไข่อย่างปลอดภัย เป็นไปด้วยความสมัครใจ และมีศักดิ์ศรี.


กำลังโหลดความคิดเห็น