xs
xsm
sm
md
lg

คณะทูตชี้พม่าต้องสืบสวนข้อกล่าวหาทารุณโรฮิงญาให้ถูกต้องน่าเชื่อถือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - พม่าต้องจัดให้มีการดำเนินการสืบสวนอย่างถูกต้องในข้อกล่าวหากระทำทารุณต่อชาวโรฮิงญา คณะทูตจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กล่าววานนี้ (1) ภายหลังเดินทางเยือนพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาราว 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้ลี้ภัย และกลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กองทัพพม่า และกลุ่มชาวบ้านได้ก่อเหตุสังหาร และข่มขืนพลเรือน และเผาหมู่บ้านในระหว่างปฏิบัติการกวาดล้างในรัฐยะไข่ ที่อ้างว่า มุ่งเป้าที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา

การดำเนินการปราบปรามดังกล่าวเกิดขึ้นในปลายเดือน ส.ค. จนเป็นเหตุให้เกิดการอพยพของชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมากเข้าไปในบังกลาเทศ

ระหว่างการเดินทางเยือนพม่า 2 วัน คณะผู้แทนจากสหประชาชาติได้เดินทางไปยังรัฐยะไข่ และพบหารือกับนางอองซานซูจี และ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย

“เพื่อแสดงความรับผิดชอบ จำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนอย่างถูกต้อง ซึ่งการสืบสวนนั้นมี 2 วิธี หนึ่งคือ การส่งเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ และอีกวิธีหนึ่งคือ รัฐบาลพม่าต้องดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างครอบคลุมด้วยตัวเอง” ทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติ กล่าวต่อนักข่าว หลังคณะทูตเดินทางเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศ และรัฐยะไข่

เมื่อเดือนก่อน อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศได้สอบถามให้ผู้พิพากษาพิจารณาว่าขอบเขตอำนาจศาลครอบคลุมพม่าหรือไม่ ด้วยพม่านั้นไม่ได้เป็นสมาชิกศาล

ด้าน นางอองซานซูจี ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการสืบสวนอย่างถูกต้องหากพบหลักฐานการกระทำทารุณ

“มันไม่สำคัญว่าการสืบสวนจะเป็นการสืบสวนระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศ ตราบเท่าที่การสืบสวนนั้นมีความน่าเชื่อถือ” ทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติ กล่าว

ระหว่างการพบหารือกับคณะทูตสหประชาชาติในช่วงค่ำวันจันทร์ (30) พล.อ. อาวุโส มิน ออง หล่าย ปฏิเสธว่ากองกำลังของเขาได้กระทำการข่มขืน และล่วงละเมิดทางเพศในระหว่างการปราบปราม

“กองทัพมีระเบียบวินัยเสมอ และดำเนินการต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” พล.อ. อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวต่อคณะทูต

ผู้หญิง และเด็กหญิงชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศรายงานถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ รายงานที่ได้รับการตรวสอบโดยผู้ตรวจสอบความขัดแย้ง แต่ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวว่า กองกำลังของเขาไม่มีประวัติการล่วงละเมิดทางเพศ

“มันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ตามวัฒนธรรม และศาสนาของประเทศเรา” ผบ.สส.พม่า กล่าว และเสริมว่า ใครก็ตามที่พบว่ากระทำความผิดจะถูกลงโทษ

มิน ออง หล่าย ยังย้ำว่า พม่าพร้อมที่จะรับผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ผู้ลี้ภัยที่ตรวจสอบได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่อาศัยตามข้อตกลงส่งกลับประเทศกับบังกลาเทศ

หลายเดือนหลังลงนามข้อตกลง ยังไม่มีผู้ลี้ภัยได้เดินทางกลับ พวกเขาเรียกร้องการรับรองความปลอดภัย สิทธิที่จะได้กลับไปยังหมู่บ้านเดิม และได้รับสิทธิการเป็นพลเมือง

นักการทูตสหประชาชาติอีกรายหนึ่งเตือนว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี ขณะที่การดำเนินการในปัจจุบันนั้นล่าช้าไปจากแผน

“มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งกระบวนการดำเนินการ” ทูตคูเวต ประจำสหประชาชาติ กล่าว และระบุว่า ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของการเดินทางกลับอย่างความปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี

เจ้าหน้าที่บังกลาเทศโทษพม่าว่า ซื้อเวลาด้วยการแสร้งร่วมมือในการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศเพื่อประโยชน์จากประชาคมโลก ขณะที่ฝ่ายพม่า กล่าวว่า บังกลาเทศส่งแบบฟอร์มการส่งกลับประเทศมาเพียง 8,000 ชุด และหลายชุดไม่สมบูรณ์ ทำให้กระบวนการส่งกลับเกิดความล่าช้า.



กำลังโหลดความคิดเห็น