xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ บังกลาเทศจี้กดดันพม่าให้รับโรฮิงญากลับประเทศมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา ของบังกลาเทศ กล่าวว่า ประชาคมโลกจำเป็นต้องกดดันพม่าให้มากขึ้นในการรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธการยืนยันของรัฐบาลพม่าที่กล่าวอ้างว่า ได้รับครอบครัวชาวโรฮิงญากลับประเทศ

“ประชาคมโลกจำเป็นต้องเพิ่มแรงกดดันต่อพม่าให้มากยิ่งขึ้นเพื่อที่พวกเขาจะรับคนของตัวเองกลับไป และรับรองความปลอดภัยของชาวโรฮิงญาเหล่านั้น” ฮาซินา กล่าวที่กรุงลอนดอน

“พม่า กล่าวว่า พวกเขาพร้อมที่จะรับโรฮิงญากลับ แต่พวกเขายังไม่เริ่มดำเนินการ” ผู้นำบังกลาเทศ กล่าวย้ำ

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าวว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ได้อพยพออกจากรัฐยะไข่ของพม่าไปบังกลาเทศ เพื่อหลบหนีการปราบปรามของทหารตั้งแต่เดือน ส.ค. ท่ามกลางรายงานเกี่ยวกับการการสังหาร การข่มขืน และการวางเพลิงโดยกองกำลังทหารของพม่า และกลุ่มม็อบชาวพุทธในการกระทำที่สหประชาชาติ ระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาเกือบทั้งหมด โดยกล่าวว่า กองกำลังของพม่าดำเนินการปราบปรามต่อต้านการก่อความไม่สงบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ในอีกงานหนึ่งที่กรุงลอนดอนเช่นกัน บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ และคริสเทีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา เรียกร้องการสืบสวนการกระทำทารุณโหดร้ายที่ถูกรายงาน

“เจ้าหน้าที่พม่าจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจริงจังต่อความมั่นคง และความปลอดภัยของโรฮิงญา” จอห์นสัน กล่าว

ฮาซินา กล่าวว่า บังกลาเทศได้ส่งรายชื่อครอบครัวชาวโรฮิงญา 8,000 ชื่อ สำหรับการส่งกลับประเทศให้แก่พม่า แต่จนถึงขณะนี้พม่ายังปฏิเสธที่จะรับกลับ

พม่า และบังกลาเทศเห็นพ้องกันในเดือน ม.ค. ที่จะดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 2 ปี

ผู้นำบังกลาเทศยังโต้แย้งการยืนยันของพม่าที่ระบุว่า ได้ส่งครอบครัวชาวโรฮิงญา 5 คน กลับประเทศจากบังกลาเทศ โดยระบุว่า ครอบครัวโรฮิงญาดังกล่าวอาศัยอยู่ในบริเวณที่ไม่มีผู้ครอบครองระหว่างสองประเทศ

“พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน บางทีพม่าอาจต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า พวกเขากำลังรับโรฮิงญากลับ มันเป็นสัญญาณที่ดี แต่เหตุใดพวกเขาถึงรับกลับแค่เพียงแค่ครอบครัวเดียว เรายื่นรายชื่อครอบครัวโรฮิงญาไปแล้วถึง 8,000 ชื่อ แต่พวกเขากลับไม่รับกลับ” ฮาซินา กล่าว

ผู้นำบังกลาเทศยังคงยืนยันแผนการที่จะย้ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญา 100,000 คน ไปที่เกาะไร้ผู้อาศัยในอ่าวเบงกอล และปฏิเสธถึงความวิตกว่าการอยู่อาศัยบนเกาะจะเสี่ยงต่อน้ำท่วม

“เราหวังที่จะย้ายพวกเขาไปอยู่ที่เกาะ บังกลาเทศมักมีน้ำท่วมเสมอ แต่ค่ายผู้ลี้ภัยก็ไม่ปลอดภัย เราได้เตรียมที่ที่ดีกว่าไว้สำหรับพวกเขาที่จะใช้ชีวิตอยู่ ที่ที่พวกเขาอยู่ในตอนนี้บวกกับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง อาจเกิดดินยุบ หรืออุบัติเหตุต่างๆ ได้” ฮาซินา กล่าว

หน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่างวิตกถึงแผนการย้ายที่อยู่อาศัย และเชื่อว่าจะทำให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเผชิญต่อพายุไซโคลน น้ำท่วม และการค้ามนุษย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น