รอยเตอร์ - ทหารพม่า 7 นาย ถูกตัดสินโทษจำคุก 10 ปี และใช้แรงงานหนักในพื้นที่ห่างไกล จากการมีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่ชายชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของรัฐยะไข่ เมื่อเดือน ก.ย.2560 ตามการเปิดเผยของกองทัพ
กองทัพพม่าระบุในคำแถลงที่นำออกเผยแพร่บนหน้าเพจเฟซบุ๊กของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ว่า ทหารทั้ง 7 นาย ถูกดำเนินการจากการกระทำและการมีส่วนในการฆาตกรรม
เหตุการณ์การสังหารหมู่อยู่ระหว่างการสืบสวนโดยนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน คือ วา โลน และกอ โซ อู ที่ถูกจับกุมตัวในเดือน ธ.ค. และยังถูกทางการคุมขังด้วยเผชิญต่อข้อหาละเมิดกฎหมายความลับราชการ
เจ้าหน้าที่พม่ากล่าวต่อรอยเตอร์ในเดือน ก.พ. ว่า ทหารได้ดำเนินการสืบสวนอย่างอิสระเป็นการภายใน และไม่เกี่ยวข้องต่อการที่นักข่าวรอยเตอร์ถูกกล่าวหาว่าได้รับเอกสารลับราชการ
ชายชาวโรฮิงญาจากหมู่บ้านอินดิน ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ถูกฝังอยู่ในหลุมศพขนาดใหญ่เมื่อต้นเดือน ก.ย. หลังถูกทำร้าย หรือถูกยิงจนเสียชีวิตโดยชาวบ้าน และทหาร ซึ่งรอยเตอร์ได้เผยแพร่เรื่องราวดังกล่าวในเดือน ก.พ.
การสังหารเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามของกองทัพที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งเต็มไปด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการสังหาร ข่มขืน วางเพลิง และปล้นทรัพย์สิน ที่เกิดขึ้นในระหว่างการปราบปรามตอบโต้การโจมตีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโรฮิงญาในปลายเดือน ส.ค. ซึ่งสหประชาชาติและสหรัฐฯ ระบุว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ แต่ทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
“เจ้าหน้าที่ 4 นาย ถูกตำหนิ และไล่ออกจากราชการ และถูกตัดสินจำคุก 10 ปี พร้อมกับใช้แรงงานหนักในพื้นที่ห่างไกล ส่วนทหารอีก 3 นาย ถูกลดตำแหน่ง เหลือแค่พลทหาร และไล่ออก และได้รับโทษจำคุก 10 ปี พร้อมใช้แรงงานหนักในพื้นที่ห่างไกลเช่นกัน” คำแถลงระบุ
ส่วนกระบวนการทางกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพลเรือนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. กองทัพระบุว่า ชายชาวโรฮิงญา 10 คน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ 200 คน ที่เข้าโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคง ชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธได้โจมตีตอบโต้ผู้ก่อความไม่สงบบางส่วนด้วยมีดดาบ และทหารยิงคนเหล่านี้จนเสียชีวิต
แต่รายงานที่รอยเตอร์ได้รับจากชาวบ้านยะไข่ และพยานชาวมุสลิมโรฮิงญากลับแตกต่างไป และรอยเตอร์ได้เผยแพร่เรื่องราวในเดือน ก.พ. โดยชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธ ระบุว่า ไม่มีการโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบเกิดขึ้นกับกองกำลังรักษาความมั่นคงในหมู่บ้านอินดิน และพยานชาวโรฮิงญาบอกต่อรอยเตอร์ ว่า ทหารดึงตัวโรฮิงญา 10 คน ออกมาจากกลุ่มคนหลายร้อยคนที่มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ที่กำลังแสวงหาที่ปลอดภัยบริเวณชายหาดใกล้เคียง
โรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ต้องหลบหนีการปราบปรามของทหารออกจากรัฐยะไข่ข้ามพรมแดนไปบังกลาเทศตั้งแต่เดือน ส.ค. จนทำให้เกิดค่ายผู้ลี้ภัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก.