xs
xsm
sm
md
lg

ทูตพิเศษสหรัฐฯ ร้องปล่อยตัวนักข่าวที่ถูกจับกุมในพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - แซม บราวน์แบ็ค เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ เรียกร้องการปล่อยตัวนักข่าวพม่าที่ถูกจำคุกขณะรายงายข่าวเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีการปราบปรามของทหาร

บราวน์แบ็ค อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจเยือนสถานที่ที่ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนเบียดเสียดอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์ ใกล้พรมแดนพม่า

“นักข่าวที่ถูกคุมขังอยู่ในพม่าควรได้รับการปล่อยตัว” บราวน์แบ็ค เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ด้านกิจการเสรีภาพศาสนาระหว่างประเทศ กล่าวแถลงข่าวในกรุงธากา โดยไม่ได้อ้างถึงชื่อบุคคล หรือนายจ้างของนักข่าว

สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในหลายชาติที่กดดันเรียกร้องการปล่อยตัวสองนักข่าวรอยเตอร์ คือ วา โลน และกอ โซ อู ที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือน ธ.ค.

ศาลพม่ากำลังพิจารณาว่าทั้งคู่จะถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายความลับราชการจากการครอบครองเอกสารลับของรัฐบาลหรือไม่ ความผิดที่อาจมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 14 ปี

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ผู้พิพากษาพม่าได้ปฏิเสธคำร้องยกฟ้องคดีกับนักข่าวทั้งสองคนที่อ้างว่าขาดหลักฐาน ซึ่งผู้พิพากษาระบุว่า เขาต้องการที่จะฟังคำให้การของพยานอีก 8 คนที่เหลือ จากทั้งหมด 25 คน ในรายชื่อ ตามการระบุของทนายความฝ่ายนักข่าว

บราวน์แบ็ค ชื่นชมการทำงานของสื่อในการทำข่าวนับตั้งแต่วิกฤตโรฮิงญาเริ่มขึ้นในเดือน ส.ค. และกล่าวว่า นักข่าวควรได้รับอนุญาตให้เคลื่อนไหวอย่างเสรีในพม่า และในภูมิภาคเพื่อรายงานเหตุการณ์ความคืบหน้า

บราวน์แบ็ค อธิบายว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญาเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิม แต่พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อตอบโต้การโจมตีที่เกิดขึ้นกับด่านรักษาความมั่นคง และค่ายทหารในรัฐยะไข่

เมื่อต้นเดือน ทหารพม่า 7 นาย ถูกตัดสินโทษจำคุก 10 ปี และใช้แรงงานหนักในพื้นที่ห่างไกลจากการมีส่วนรว่มในการสังหารหมู่ชายมุสลิมโรฮิงญา 10 คน ในรัฐยะไข่เมื่อเดือน ก.ย. ตามการเปิดเผยของกองทัพ

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ระบุว่า ชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ได้หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศ และเมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการต่อพม่าจากวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ บราวน์แบ็ค กล่าวแถลงข่าวว่า “สหรัฐฯ จะยังสืบสวนเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นต่อไป” และเสริมว่า สมาชิกจำนวนหนึ่งในสภาคองเกรส และรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ได้แสดงความวิตกกังวลในเรื่องนี้

พม่ารายงานเมื่อวันเสาร์ว่า มีครอบครัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลุ่มแรกเดินทางกลับพม่าจากบังกลาเทศ แต่รัฐบาลบังกลาเทศ และหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ระบุว่า พวกเขาไม่ทราบถึงการส่งกลับผู้ลี้ภัยใดๆ.


กำลังโหลดความคิดเห็น