เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าที่สร้างความตื่นตะลึงต่อบรรดาผู้สังเกตการณ์จากการให้การแย้งกองกำลังของตนเองโดยอธิบายถึงความพยายามของตำรวจที่จะวางกับดักสองนักข่าวรอยเตอร์ ถูกตัดสินจำคุกตามการเปิดเผยของโฆษกตำรวจวันนี้ (30)
ร.ต.อ.โม ยาน นาย ถูกนำตัวขึ้นศาลในฐานะพยานฝ่ายโจทก์เมื่อต้นเดือนในการพิจารณาคดีเบื้องต้นกับนักข่าวของรอยเตอร์ที่อาจเผชิญโทษจำคุก 14 ปี จากการครอบครองเอกสารลับราชการ
แต่นายตำรวจผู้นี้ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาของศาล เมื่อเขาแปรพักตร์ และอธิบายถึงวิธีการที่เพื่อนร่วมงานของเขาได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้จับตัวนักข่าวด้วยการมอบเอกสารสำคัญให้ในระหว่างการพบหารือ
วา โลน นักข่าวพม่า อายุ 32 ปี และกอ โซ อู นักข่าวเพื่อนร่วมงาน อายุ 28 ปี ยังคงถูกควบคุมตัวตั้งแต่ถูกจับในเดือน ธ.ค. คดีความที่ก่อให้เกิดความวิตกถึงความถดถอยของเสรีภาพสื่อ
คำให้การของนายตำรวจผู้นี้เป็นกรณีที่หาได้ยากเป็นอย่างมาก ที่เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงจะท้าทายอย่างเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ที่มียศระดับสูงกว่า ในประเทศที่เคยปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหาร
ในวันนี้ (30) โฆษกตำรวจยืนยันว่า โม ยาน นาย ถูกจำคุกจากการละเมิดกฎระเบียบตำรวจ ขณะที่แหล่งข่าวตำรวจ กล่าวว่า โม ยาน นาย ถูกตัดสินความผิดในข้อหานี้ก่อนที่จะเข้าให้การต่อศาล
“เขาถูกตัดสินโทษเพราะเขาบอกคนอื่นเกี่ยวกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังตำรวจโดยไม่ได้รับอนุญาต เขาละเมิดระเบียบวินัยตำรวจ” พ.ต.อ.เมียว ทู โซ กล่าว
ภรรยาของโม ยาน นาย กล่าวต่อเอเอฟพีว่า เธอได้รับแจ้งเกี่ยวกับคำตัดสินโทษของสามีเมื่อคืนวันอาทิตย์ (29)
“ตำรวจบอกกับฉันเมื่อวานว่า เขาถูกส่งไปเรือนจำอินเส่งเพื่อรับโทษจำคุกนาน 1 ปี” ตู ตู ภรรยาของโม ยาน นาย กล่าวทั้งน้ำตา
ไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังจากสามีของเธอขึ้นให้การต่อศาลเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ตู ตู และลูก ถูกขับออกจากบ้านพักตำรวจในกรุงเนปีดอ
โฆษกตำรวจปฏิเสธความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า เป็นเรื่องบังเอิญ
คดีที่เกิดขึ้นกับนักข่าวรอยเตอร์ทำให้ประชาธิปไตยของพม่าตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มข้นของต่างชาติ
ในช่วงเวลาที่นักข่าวทั้งสองคนถูกจับกุมตัว พวกเขากำลังสืบสวนเรื่องบทบาทของเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงในเหตุสังหารหมู่ชายชาวโรฮิงญา 10 คน ในรัฐยะไข่ พื้นที่ที่ทหารดำเนินการปราบปรามชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา
ชาวโรฮิงญาราว 700,000 คน หลบหนีไปบังกลาเทศ ตั้งแต่ปฏิบัติการปราบปรามทางทหารเริ่มขึ้นในปลายเดือน ส.ค. ที่ทหารระบุว่า เป็นปฏิบัติการตอบโต้กลุ่มก่อความไม่สงบโรฮิงญา.