รอยเตอร์ - พม่ายังไม่พร้อมสำหรับการส่งกลับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหประชาชาติที่เดินทางเยือนพม่า หลังพม่าถูกกล่าวหาว่า กระทำการกวาดล้างชาติพันธุ์ และขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คนไปบังกลาเทศ
“จากสิ่งที่ได้เห็น และได้ฟังจากผู้คน ไม่มีการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครอง การพลัดถิ่นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาพเงื่อนไขต่างๆ ยังไม่เอื้อต่อการเดินทางกลับ” เออร์ซูลา มิลเลอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติสำหรับกิจการด้านมนุษยธรรม เปิดเผยหลังเดินทางเยือนพม่านาน 6 วัน
รัฐบาลพม่าได้ให้คำมั่นที่จะดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อให้รับรองว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศภายใต้ข้อตกลงที่ลงนามกับบังกลาเทศในเดือน พ.ย. จะเป็นไปอย่างยุติธรรม มีศักดิ์ศรี และปลอดภัย
แต่จนถึงขณะนี้ พม่าได้ตรวจสอบความถูกต้องผู้ลี้ภัยมุสลิมโรฮิงญาที่สามารถเดินทางกลับประเทศได้เพียงไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น และกลุ่มผู้ลี้ภัยดังกล่าวจะเป็นกลุ่มแรกที่จะเดินทางกลับพม่าเมื่อพวกเขาพร้อมเดินทางกลับ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่พม่าเมื่อเดือนก่อน
มิลเลอร์ ได้รับอนุญาตที่หาได้ยากในการเดินทางเข้าพม่า ที่ทำให้สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในรัฐยะไข่ และพบหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน รวมทั้ง นางอองซานซูจี และเจ้าหน้าที่พลเรือนคนอื่นๆ
การอพยพของชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็นจำนวนมากภายหลังการปราบปรามของทหารในตอนเหนือของรัฐยะไข่เมื่อปลายเดือน ส.ค. ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาระบุว่ามีการสังหาร เผาทำลาย ปล้นทรัพย์สิน และข่มขืน โดยบรรดากองกำลังทหารพม่า แต่พม่าระบุว่า กองกำลังของประเทศดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายมุสลิมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“เราได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่พม่ายุติความรุนแรง และให้การเดินทางกลับพม่าของผู้ลี้ภัยจากค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศเป็นไปด้วยความสมัครใจ และมีศักดิ์ศรี เมื่อมีทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” มิลเลอร์ กล่าว
เจ้าหน้าบังกลาเทศได้แสดงความกังขาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความเต็มใจของพม่าที่จะรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับ
พม่า และบังกลาเทศเห็นพ้องกันในเดือน ม.ค. ที่จะดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัยให้เสร็จสิ้นในระยะเวลา 2 ปี และฝ่ายพม่าได้ตั้งศูนย์รับผู้ลี้ภัย 2 แห่ง และสิ่งที่พม่าระบุว่า เป็นค่ายชั่วคราวใกล้พรมแดนในรัฐยะไข่เพื่อรับผู้เดินทางมาถึงกลุ่มแรก
“ตอนนี้เราอยู่ที่ชายแดนพร้อมที่จะรับผู้ลี้ภัยถ้าบังกลาเทศนำพวกเขามาที่ฝั่งเรา” กอ ติน รัฐมนตรีความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวต่อนักข่าวในเดือน ม.ค.
ชาวพม่าจำนวนมากมองว่าโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ สหประชาชาติระบุว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ แต่ทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
เมื่อสอบถามว่าเธอเชื่อการรับรองของรัฐบาลว่าโรฮิงญาจะได้รับอนุญาตให้กลับไปยังที่พักเดิมของตนเองหรือไม่หลังพักอยู่ในค่ายพักชั่วคราว มิลเลอร์ กล่าวว่า ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว
ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ สิ่งที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า พม่าได้ทำการปรับพื้นที่หมู่บ้านอย่างน้อย 55 แห่ง ที่ว่างเปล่าในช่วงการปราบปราม
“ฉันเห็นพื้นที่ที่หมู่บ้านถูกเผา และถูกปรับพื้นที่ แต่ไม่เห็นหรือได้ยินว่ามีการเตรียมการใดๆ สำหรับคนที่จะกลับมายังที่อยู่อาศัยเดิม” มิลเลอร์ กล่าว
เจ้าหน้าที่พม่า กล่าวว่า หมู่บ้านเหล่านี้ถูกปรับพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้ลี้ภัย
มิลเลอร์ กล่าวว่า เธอได้ยกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีอย่างจำกัดต่อผู้ด้อยโอกาสในประเทศขึ้นหารือกับเจ้าหน้าที่พม่า และระบุว่า จะผลักดันให้เจ้าหน้าที่อนุญาตการเข้าถึงสำหรับหน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่างๆ.