xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยชี้การเข้าถึงความช่วยเหลือในพม่าเข้าขั้นแย่ โรฮิงญาเสี่ยงภัยมรสุมหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - พม่าจัดอยู่ในลำดับต้นของรายชื่อประเทศที่ความสามารถของกลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าถึงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือย่ำแย่ลงในในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตามการเปิดเผยของกลุ่มวิจัย ACAPS ที่มีสำนักงานในนครเจนีวา

จากการตรวจสอบทั้งหมด 37 ประเทศ นักวิเคราะห์ของ ACAPS ได้พิจารณา ผ่านตัวชี้วัด 9 ข้อ ซึ่งรวมทั้งความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม และข้อจำกัดที่ขัดขวางประชาชนจากการเข้าถึงความช่วยเหลือ

“พม่าเป็นประเทศที่การเข้าถึงด้านมนุษยธรรมย่ำแย่ลงอย่างที่สุด การเข้าถึงของประชากรโรฮิงญาเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้น” ACAPS ระบุในคำแถลง

รายงานของ ACAPS ชิ้นนี้เผยแพร่ก่อนรายงานของคณะกรรมการรัฐสภาอังกฤษที่เตือนถึงภัยจากน้ำท่วม และโรคที่อาจคร่าชีวิตผู้ลี้ภัยโรฮิงญาหลายพันคนในค่ายพักต่างๆ ในบังกลาเทศ

สตีเฟน ทวิก ประธานคณะกรรมการการพัฒนาระหว่างประเทศ กล่าวในคำแถลงว่า เวลากำลังหมดลงเรื่อยๆ ประเทศผู้บริจาคต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลบังกลาเทศ

“ผู้ลี้ภัยจำนวนมากกำลังจะเผชิญกับอีกวิกฤตหนึ่ง ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความปลอดภัยที่เปราะบาง และที่พักของชาวโรฮิงญาในค่ายชั่วคราวที่บังกลาเทศจัดหาให้นั้นทำให้โรฮิงญาตกอยู่ในอันตราย” ทวิก กล่าว

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าวว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ได้หลบหนีออกจากพม่ามายังบังกลาเทศ การอพยพนี้เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธในเดือน ส.ค. ที่ส่งผลให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้อย่างหนัก ซึ่งสหประชาชาติ และสหรัฐฯ ระบุว่า การปราบปรามดังกล่าวเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

แม้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้บางกลุ่มเข้าถึงพื้นที่ แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น และไม่สามารถคาดเดาได้ ปิแอร์ เปรอง โฆษกสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ในพม่า ระบุ

“องค์กรด้านมนุษยธรรมส่วนใหญ่ที่เคยทำงานอยู่ในเมืองหม่องดอมานานหลายปียังคงไม่สามารถกลับเข้าไปดำเนินโครงการช่วยเหลืออีกครั้งได้” ปิแอร์ เปรอง กล่าวต่อรอยเตอร์

คณะกรรมการรัฐสภาอังกฤษ กล่าวว่า สถานการณ์สำหรับโรฮิงญามีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลง ด้วยคาดว่าจะมีฝนตกอย่างหนักในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และพายุไซโคลนหลังจากนั้น

“สภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง และฝนที่ตกอย่างหนักอาจเป็นผลให้ชาวโรฮิงญาเสียชีวิต” คณะกรรมการการพัฒนาระหว่างประเทศ ระบุ

คณะกรรมการยังกล่าวเตือนว่า ค่ายต่างๆ ในบังกลาเทศยังไม่สามารถทนทานต่อฝนที่ตกอย่างหนัก ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. ถึงเดือน ส.ค. เนื่องจากค่ายต่างๆ ถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิดดินถล่ม และน้ำท่วม นอกจากนั้น สุขอนามัยที่ย่ำแย่ รวมทั้ง อัตราการได้รับวัคซีนในระดับต่ำในหมู่ชาวโรฮิงญาที่ถูกจำกัดการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขในพม่า หมายความว่าน้ำท่วมอาจทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ.


กำลังโหลดความคิดเห็น