เอเอฟพี - รัฐมนตรีต่างประเทศ และนักการทูตจากชาติสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เริ่มแผนการที่จะระดมการสนับสนุนระหว่างประเทศเพื่อดำเนินการต่อพม่ากรณีวิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญา โดยจัดตั้งคณะกรรมการหาเสียงสนับสนุนในระหว่างการพบหารือที่กรุงธากา บังกลาเทศ วานนี้ (6) ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่
ยูเซฟ อัล โอไธมีน เลขาธิการ OIC กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้เป็นก้าวสำคัญมุ่งไปสู่การยุติวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการอพยพของชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 700,000 คน จากพม่าไปยังค่ายพักในบังกลาเทศ
อัล โอไธมีน กล่าวว่า คณะกรรมการชุดใหม่นี้จะระดม และประสานงานการสนับสนุนทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนโรฮิงญา
“สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างมาก สิ่งนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมที่ดำเนินขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาให้แก่พี่น้องโรฮิงญาของเรา” โอไธมีน กล่าว
การปราบปรามทางทหารเริ่มขึ้นในรัฐยะไข่ของพม่าในเดือน ส.ค. ที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมหลั่งไหลเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศจำนวนมหาศาล ที่เข้าไปรวมกับผู้ลี้ภัยกว่า 300,000 ที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านั้นในค่ายพัก อันเนื่องจากความรุนแรงครั้งก่อนหน้า
สหประชาชาติ และสหรัฐฯ กล่าวว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นเทียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์ แต่กองทัพพม่ากล่าวว่า ทหารมุ่งเป้าปราบปรามเพียงแค่ผู้ก่อการร้าย
อัล โอไธมีน กล่าวว่า ชาติมุสลิมต้องกดดันประชาคมโลก สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา แต่เป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชน์ของพี่น้องของเราในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
บังกลาเทศดำเนินความพยายามทางการทูตอย่างมากที่จะกดดันพม่าให้รับผู้ลี้ภัยกลับประเทศอย่างปลอดภัย ทั้งสองชาติได้ลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศเมื่อเดือน พ.ย. แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้ลี้ภัยเดินทางกลับ
โรฮิงญาถูกกดขี่ข่มเหงนานหลายสิบปีในพม่า ด้วยถูกมองว่า เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง.