เอเอฟพี - สหประชาชาติ และรัฐบาลพม่าเห็นพ้องกันที่จะอนุญาตให้มีการเข้าถึงพื้นที่รัฐยะไข่ที่ประสบวิกฤตหลังถกเถียงกันนานหลายเดือนเกี่ยวกับวิธีที่จะส่งผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนกลับประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ถูกปิดกั้นหลังการปราบปรามของทหารเริ่มขึ้นเมื่อปีก่อน ที่เป็นผลให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ จนทำให้เวลานี้กลายเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สหประชาชาติ และสหรัฐฯ ระบุว่า การปราบปรามของทหารพม่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ขณะที่กองทัพ ระบุว่า ทหารกำลังต่อสู้กลุ่มผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา
พม่า และบังกลาเทศลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศในเดือน พ.ย. แต่จนถึงขณะนี้มีผู้ลี้ภัยไม่กี่สิบคนที่ได้เดินทางกลับ ขณะที่ชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะเดินทางกลับพม่าจนกว่าพวกเขาจะได้รับการรับรองความปลอดภัย และสิทธิการเป็นพลเมือง
สหประชาชาติ ได้กล่าวว่า สภาพแวดล้อมต่างๆ ในรัฐยะไข่ ยังไม่พร้อมสำหรับการเดินทางกลับอย่างปลอดภัย และด้วยความสมัครใจ แต่ร่างข้อตกลงที่มีขึ้นในวันพฤหัสฯ จะอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ เข้าถึงรัฐยะไข่ รวมทั้งสถานที่แหล่งกำเนิดของผู้ลี้ภัย และพื้นที่ที่คาดว่าจะเดินทางกลับ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในเดือน ส.ค.2560
คำแถลงระบุว่า การเข้าถึงจะทำให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยสหประชาชาติเข้าประเมินสภาพตามจริง และดำเนินกิจกรรมการปกป้องคุ้มครอง
พม่า ระบุว่า พม่าพร้อมที่จะรับโรฮิงญากลับประเทศ และกล่าวโทษกันไปมากับบังกลาเทศเกี่ยวกับว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อความล่าช้า แต่นักวิจารณ์ได้ตั้งคำถามถึงความจริงใจ และการบรรลุข้อตกลงฉบับใหม่นี้
“ร่างข้อตกลงเป็นโอกาสที่จะช่วยยับยั้งผลที่เป็นอันตรายจากการยืนกรานปฏิเสธของรัฐบาลพม่าต่อการเข้าถึงอย่างเป็นอิสระของหน่วยงานสหประชาชาติ แต่ข้อตกลงจะไม่คุ้มค่ากระดาษที่เขียนขึ้น หากรัฐบาลพม่าไม่กระทำให้เห็นว่า พม่าต้องการที่จะเปิดรัฐยะไข่ให้ผู้ตรวจสอบอิสระ” นักวิจัยจากฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
รัฐบาลพม่า ยังระบุว่า รัฐบาลจะตั้งการไต่สวนอิสระเพื่อสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องหลังการโจมตีก่อการร้ายโดยกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่โจมตีในเดือน ส.ค. และสังหารตำรวจชายแดนไป 12 นาย
ทหารใช้ปฏิบัติของผู้ก่อการร้ายเป็นบริบทของการเริ่มดำเนินการปราบปรามในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ และปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเข้าประเทศ รวมทั้ง นางยางฮี ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และยังปฏิเสธข้อกล่าวหาเกือบทั้งหมดว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงของประเทศก่อเหตุทารุณละเมิดสิทธิในรัฐยะไข่
คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนสหประชาชาติประจำพม่าคนใหม่ มีกำหนดเดินทางเยือนพม่าในเดือนมิ.ย. เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ภายหลังการเยือนของคณะผู้แทนจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ.