xs
xsm
sm
md
lg

คณะมนตรีความมั่นคงร้องขอรัฐบาลพม่าให้ร่วมมือกับทีมสอบสวนสหประชาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ได้ร้องขอต่อรัฐบาลพม่าให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหาการกระทำทารุณละเมิดสิทธิต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา

ชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างน้อย 700,000 คน ถูกขับออกจากพม่านับตั้งแต่ทหารดำเนินปฏิบัติการปราบปรามในรัฐยะไข่เมื่อเดือน ส.ค. ซึ่งอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และสหประชาชาติ ระบุว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

หลังการเยือนพม่า และรัฐยะไข่ในต้นเดือน พ.ค. คณะมนตรีความมั่นคง ระบุว่า รัฐบาลพม่าเห็นพ้องกับการสืบสวนข้อกล่าวหา แต่คณะทำงานของสหประชาชาติ เช่น หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนจะต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว

“การสอบสวนอย่างเป็นอิสระ และโปร่งใสในข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำทารุณ และควบคุมตัวผู้กระทำความผิดที่รับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะต้องดำเนินการโดยที่ประชาคมโลกมีส่วนร่วม เพื่อให้ความมุ่งมั่นนี้เป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรม” ข้อความส่วนหนึ่งในจดหมายที่ส่งเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ระบุ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ร้องขอให้พม่าตอบสนองคำร้องดังกล่าวภายใน 30 วัน

พม่าปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเดินทางเข้าประเทศ ร่วมทั้งห้ามนางยางฮี ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ

สำหรับทูตพิเศษสหประชาชาติประจำพม่าคนใหม่ คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ มีกำหนดเดินทางเยือนพม่าครั้งแรกในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาการกระทำทารุณละเมิดสิทธิในระหว่างดำเนินการปราบปรามทางทหารและโต้แย้งว่า ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นมุ่งเป้าไปที่การกำจัดผู้ก่อการร้าย

คณะมนตรีความมั่นคงยังเรียกร้องให้พม่าดำเนินมาตรการที่จะยุติการแบ่งแยกกับชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่ถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธแห่งนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น