xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ-อังกฤษ’ เตือนการเดินทางไปภาคตอ.เฉียงเหนืออินเดีย หลังผู้คนลุกฮือต้าน ‘กม.สัญชาติ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหรัฐฯ และอังกฤษเตือนพลเมืองให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย หลังประชาชนที่ต่อต้านกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่นัดชุมนุมประท้วงต่อเนื่องในวันนี้ (14 ธ.ค.) ขณะที่เหตุจลาจลในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาทำให้มีคนตายแล้ว 2 ศพ บาดเจ็บอีกนับสิบ

ชาวรัฐอัสสัมซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเกรงว่า กฎหมายใหม่จะเปิดทางให้ผู้อพยพจากบังกลาเทศ ซึ่งพวกเขามองว่าเข้ามาแย่งอาชีพและทำลายอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ได้กลายเป็นพลเมืองอินเดียอย่างสมบูรณ์

ศูนย์กลางการประท้วงอยู่ที่เมืองกูวาฮาตี (Guwahati) ซึ่งมีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลอีก 26 คนในสัปดาห์นี้ หลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตัดสินใจใช้ทั้งกระสุนเปล่าและกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุม

ทางการอินเดียประกาศระงับคำสั่งเคอร์ฟิวในเมืองกูวาฮาตีระหว่างเวลา 9.00 - 16.00 น. ของวันนี้ (14) ขณะที่ผู้ประท้วงบางกลุ่มมีแผนฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิว และจะออกมาชุมนุมกันตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำ

ซามุจจาล ภัตตะจารยา จากสหภาพนักศึกษารัฐอัสสัม (All Assam Students Union) ซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงยืนยันกับเอเอฟพีว่าทางกลุ่มจะต่อสู้คัดค้านกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ “ทั้งบนถนน และในศาล”

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย และนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นได้เลื่อนการประชุมซัมมิตซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองกูวาฮาตีในวันพรุ่งนี้ (15) ขณะที่สหรัฐฯ และอังกฤษแจ้งเตือนพลเมืองให้ “ใช้ความระมัดระวัง” หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

กระแสต่อต้านกฎหมายสัญชาติยังลุกลามไปยังเมืองใหญ่ๆ ทั่วอินเดียในวันศุกร์ (13) โดยเกิดเหตุปะทะระหว่างตำรวจกับกลุ่มนักศึกษาในกรุงนิวเดลี ส่วนที่รัฐเวสต์เบงกอลก็มีกลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผาอาคารของสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง

รัฐเกรละและกรณาฏกะทางตอนใต้ของอินเดีย รวมถึงรัฐคุชราตทางตะวันตกซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ก็มีผู้คนออกมาแสดงความไม่พอใจกฎหมายใหม่เช่นกัน

กฎหมายสัญชาติฉบับแก้ไข (CAB) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอินเดียในสัปดาห์นี้ กำหนดช่องทางฟาสต์แทร็คในการขอสัญชาติอินเดียสำหรับพลเมืองปากีสถาน, อัฟกานิสถาน และบังกลาเทศที่นับถือศาสนากลุ่มน้อย เช่น ฮินดู พุทธ ซิกข์ และคริสต์ โดยยกเว้นเฉพาะชาวมุสลิม

สำหรับผู้นับถืออิสลาม, ฝ่ายค้าน และองค์กรสิทธิมนุษยชน นโยบายนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ฮินดูทวา’ ซึ่งหมายถึงกระแสชาตินิยมฮินดูที่มุ่งกีดกันชาวมุสลิมซึ่งมีอยู่ราวๆ 200 ล้านคนในอินเดีย

นายกฯ โมดี ปฏิเสธข้อครหานี้ และอ้างว่าที่กฎหมายสัญชาติไม่ไม่ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมุสลิมจากทั้ง 3 ประเทศก็เนื่องจากว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง

กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอินเดีย โดย ส.ส.คนหนึ่งเปรียบเทียบมันว่าไม่ต่างอะไรกับกฎหมายต่อต้านชาวยิวของพวกนาซีเยอรมันในทศวรรษ 1930

มุขมนตรีหลายรัฐในอินเดีย เช่น เวสต์เบงกอล, ปัญจาบ, เกรละ, มัธยประเทศ และฉัตตีสครห์ ประกาศจะไม่นำกฎหมายนี้มาบังคับใช้ในรัฐของตน


กำลังโหลดความคิดเห็น