น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 - 2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เสนอ โดยสรุปว่าการคาดประมาณประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ - 0.2 ต่อปี ซึ่งในปี 2583 คาดประมาณว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน ประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด - 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2563 มีประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน (ร้อยละ 16.9) ลดลงเป็น 8.4 ล้านคน (ร้อยละ 12.8) ในปี 2583 ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน (ร้อยละ 18) เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน (ร้อยละ 31.28) ในปี 2583 โดยในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด
ส่วนประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน (ร้อยละ 65) ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคน (ร้อยละ 56) ในปี 2583 อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สุงอายุ 1 คน ในปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 71 คน ต่อเพศหญิง 100 คน และจะลดลงอีกในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เพศชาย 41 คนต่อเพศหญิง 100 คน
ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ 25-59 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาลมีแผนส่งเสริมเน้นเรื่องการออม การไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ วิธีการดูแลผู้สูงอายุ เน้นการเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ