xs
xsm
sm
md
lg

ศมส.เผยภูมิปัญญาชาติพันธุ์ปิดหมู่บ้านสู้โควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศมส.เผยภูมิปัญญาชาติพันธุ์ปิดหมู่บ้านสู้โควิด-19 เปิดสัญลักษณ์พิธีกรรม ไม้ไผ่สาน หกเหลี่ยม ชี้ว่าสถานการณ์ไม่รุนแรง หากใช้หอกดาบ สะท้อนว่า รุนแรง

วันนี้ (20 เม.ย.) นายเจษฎา เนตะวงศ์ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากการศึกษาสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ต่อผลกระทบในกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์ หลังภาครัฐมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ และจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ปิดสถานศึกษา สถานประกอบการ โดยเน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ซึ่งมาตรการดังกล่าวในส่วนของประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้และปฏิบัติตามได้ สำหรับชุมชนชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทั้งภาษา การดำรงชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร และเดินทางลำบาก การลงจากดอยไปโรงพยาบาล หรือ เข้าเมืองหาซื้อหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ยารักษาโรค จึงไม่สามารถปฏิบัติได้โดยง่าย เนื่องจากความจำกัดทั้งเรื่องรายได้ และความห่างไกล พบว่า ชุมชนชาติพันธุ์ ที่ใช้ภูมิปัญญาและการประกอบพิธีกรรมแบบโบราณ นั่นคือ การประกาศปิดชุมชนชาติพันธุ์หลายพื้นที่ หรือ บางกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้าย รวมทั้งการอพยพย้ายถิ่นกลับเข้าสู่ป่าลึก นับเป็นปฏิบัติการใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนชาติพันธุ์มีการยับยั้ง และป้องกันการแพร่ระบาดได้ด้วยตนเอง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงสื่ออื่น เช่น สำนักงานชายขอบ นำเสนอปฏิบัติการของชุมชนชาติพันธุ์ ได้แก่ การทำพิธี “เกราะหญี” คือ การปิดหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง โดยจัดทำพิธีบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งทั่วไปจะทำขึ้นใน 2 กรณี คือ งานประเพณีประจำปีของหมู่บ้าน เรียก “บัวหยี” หรือ “บัวฆอ” มักทำกันในเดือน 6 ของทุกปี เพื่อสะเดาะเคราะห์ของหมู่บ้าน โดยปิดหมู่บ้านเป็นเวลา 3 วัน 7 วัน หรือ 9 วัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำแต่ละหมู่บ้าน หรือ การประกอบพิธีในกรณีที่เกิดภัยร้ายแรง มีคนเสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือ เกิดโรคระบาดที่ร้ายแรง รักษาไม่ได้ แต่ละชุมชนจะทำการปิดหมู่บ้าน ห้ามไปมาหาสู่กันทั้งภายในและภายนอกชุมชน ทั้งนี้ ในการแสดงออกของพิธีกรรมจะมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความรุนแรงที่แตกต่าง คือ บริเวณทางเข้าหมู่บ้านหากติดแค่ตะแหล่ว หรือ ไม้ไผ่สาน หกเหลี่ยม จะถือว่ามีเหตุการณ์ไม่รุนแรงมากนัก แต่หากใช้หอกดาบ หรือ หลาวปลายแหลมประดับไว้ แสดงว่า สถานการณ์อยู่ในขั้นรุนแรงสูงสุด

“การปิดหมู่บ้านของชนเผ่า นับว่าเป็นมาตรการที่เกิดขึ้นตามภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์ในการรับมือจากภัยพิบัติหรือโรคระบาดจากภายนอก แสดงให้เห็นการมีศักยภาพในการจัดการตนเอง ภายใต้ทุนหรือทรัพยากรที่มี แต่เป็นการใช้ทุนทางสังคม เพื่อรับมือกับภัยพิบัติ หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้ถูกจัดเตรียมไว้เฉพาะเหตุการณ์ที่กำลังขึ้น แต่เป็นการสั่งสมความรู้ ภูมิปัญญา และการปฏิบัติที่เป็นกระบวนการผ่านระยะเวลามาหลายชั่วอายุคน และพิธีกรรมปิดหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ บนดอยสูง ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นการตื่นตัวต่อการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สะท้อนให้เห็นการจัดการชุมชนในสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอย่างเข้มแข็ง บนพื้นฐานการหยิบยกอัตลักษณ์ และวิถีวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ต่อรองกับโครงสร้างสังคมภายนอก” นายเจษฎา กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น