xs
xsm
sm
md
lg

สสส. ดูแลคนชาติพันธุ์-ประชากรข้ามชาติ ป้องกันโควิด-19 จัดทำสื่อ 10 ภาษา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. ผนึก ม.ธรรมศาสตร์ ม.มหิดล ดูแลคนชาติพันธุ์-ประชากรข้ามชาติ ป้องกันโควิด-19 จัดทำสื่อทุกรูปแบบ 10 ภาษาชาติพันธุ์ ไทใหญ่ ลาหู่ อาข่า สื่อสารผ่านนักสื่อสารสุขภาพชุมชนชาติพันธุ์ ลดตื่นตระหนก เข้าใจ ป้องกัน ดูแลตนเองได้ พร้อมสร้างความเข้าใจ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชาที่ตกค้างในไทย

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ผลิตสื่อสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ภายใต้โครงการพัฒนากลไกการเข้าถึงบริการสุขภาพและเสริมสร้างสุขภาวะผู้หญิงชาติพันธุ์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจของกลุ่มชาติพันธุ์ในสถานการณ์โควิด-19 โดยพัฒนาออกแบบเครื่องมือสื่อสารภาษาชาติพันธุ์กว่า 10 ภาษา เช่น ภาษาไทใหญ่ ลาหู่ อาข่า ม้ง เน้นสื่อออนไลน์ อินโฟกราฟฟิก คลิปวิดีโอ เฟซบุ๊ก ไลน์ สื่อเสียง/สปอตวิทยุ เผยแพร่ผ่านวิทยุชุมชนชาติพันธุ์และส่งเสริมแกนนำผู้หญิงชาติพันธุ์ ล่ามชุมชนให้เป็นนักสื่อสารสุขภาพชุมชน นอกจากนี้ สสส.ยังร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ผลิตสื่อสร้างความเข้าใจเรื่องโควิด -19 กับกลุ่มประชากรข้ามชาติ 3 ภาษา ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชาที่ยังอาศัยอยู่ในไทยด้วย

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับประชากรกลุ่มเฉพาะ ที่เข้าไม่ถึงข้อมูล อุปกรณ์ป้องกันโรค ทั้งหน้ากากผ้า เจลล้างมือ กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มตื่นตระหนกไม่กล้าออกจากบ้านทำสวนทำไร่ หรือบางกลุ่มกังวล ปฏิบัติตัวไม่ถูก หากต้องมีการติดต่อกับคนต่างถิ่น หรือแม้แต่การได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง(fake news) สสส.ซึ่งร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายมาตลอด จึงเร่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับแกนนำชาติพันธุ์ และนักสื่อสารสุขภาพชุมชนชาติพันธุ์ ที่เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมประสาน ดูแล ช่วยเหลือเพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับความรู้ และบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน” นางภรณี กล่าว

ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารย์ ผู้ช่วยคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า นอกจากการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาชาติพันธุ์ แปลภาษาชาติพันธุ์ เป็นภาษาไทยแล้ว ยังแปลภาษาทางการแพทย์ด้วย โดยดำเนินการใน 5 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ,อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สาย และอ.เชียงแสน จ.เชียงราย และอ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์เข้าร่วมกว่า 1,200 คน และมีแกนนำผู้หญิงชาติพันธุ์ ประมาณ 400 กว่าคน

“ตอนนี้ได้ผลิตสื่อไปยังกลุ่มแกนนำทุกพื้นที่ จากการประเมิน เมื่อได้รับสื่อที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทำให้เข้าใจและใช้ชีวิต รับมือกับโรคโควิด-19 ได้ดีมากขึ้น เช่น รู้ว่าต้องล้างมือ ใส่หน้ากาก และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และยังร่วมกับ รพ.ในพื้นที่ อาทิ รพ.ปางมะผ้า เพื่อให้แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าใจภาษา วัฒนธรรม เพราะบางชนเผ่า ผู้หญิงห้ามนอนที่อื่นจะนอนได้ต้องขออนุญาตสามี ดังนั้นหากแพทย์ให้นอน รพ. พวกเขาจะหนีกลับ และยังมีปัญหาการสื่อสาร เมื่อมีสื่อ มีนักสื่อสารสุขภาพชุมชน ทำให้ รพ. เข้าใจ สื่อสารกับกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้น”ผศ.รณภูมิ กล่าว

ด้านนางหน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง แกนนำผู้หญิงชาติพันธุ์ กล่าวว่า ดีใจที่มีหน่วยงานที่สนใจสุขภาวะของกลุ่มคนชาติพันธุ์ ต้องยอมรับว่า เราไม่ได้รับการดูแล เข้าไม่ถึงการบริการ รวมถึงไม่เข้าใจภาษา ทำให้การสื่อสารหรือรับรู้ข้อมูลต่างๆ เป็นไปได้ยาก ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้หญิงชาติพันธุ์ และชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์มีความกลัว กังวล และไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกต้อง เมื่อเรานำสื่อไปสื่อสารกับผู้หญิงชาติพันธุ์และครอบครัวที่เข้าใจภาษากะเหรี่ยง-ปกาเกอะญอ ทำให้ลดความวิตกกังวล ความกลัว เข้าใจว่าโรคโควิด-19 เป็นอย่างไร ต้องปฏิบัติตัวแบบไหน หลังจากนี้จะต้องเยียวยา ดูแลกันอย่าง จึงอยากขอบคุณทางสสส. และม.ธรรมศาสตร์ด้วย

ทั้งนี้สามารถดาว์นโหลดสื่อให้ความรู้โควิด-19 ได้ที่https://www.thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด


























































กำลังโหลดความคิดเห็น