xs
xsm
sm
md
lg

จบปัญหา “ไฟป่า-น้ำแล้ง –ฝุ่น PM2.5” ด้วยศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวบ้านไม่ต้องเผาป่าเพื่อทำการเกษตร!! เชื่อมั่นเศรษฐกิจพอเพียงคือทางรอด ระดมชาวปกาเกอะญอ อ.กัลยาณิวัฒนา เชียงใหม่ มาเอามื้อสามัคคี ประยุกต์ “ศาสตร์พระราชา” สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ได้ประโยชน์หลายต่อ “น้ำไม่แล้ง - กันไฟป่า - ลดฝุ่น PM2.5 - ชาวบ้านเลี้ยงตนเองได้”

เชื่อมั่นศาสตร์พระราชา แก้ปัญหาไฟป่า

“ถ้ามีต้นไม้เยอะพอ มันก็สามารถดูดคาร์บอนเก็บไว้ ส่วนความชื้นในอากาศ ช่วยในการลดปัญหาหมอกควันและไฟป่า แต่นั่นก็เป็นปลายเหตุ ต้นเหตุคือเราต้องเปลี่ยนเกษตรกรมาทำระบบเกษตรยั่งยืนให้ได้ ไม่ต้องเผาป่าเพื่อกำจัดวัชพืช ชาวบ้านตั้งคำถามเยอะมาก ถ้าเปลี่ยนจะให้ทำอะไรล่ะ ฉะนั้นเราก็ต้องสร้างพื้นที่ที่เป็นคำตอบให้กับชาวบ้านขึ้นมา ทำให้มันสามารถปลดหนี้ได้จริง มีรายได้จริง ไม่จำเป็นต้องอพยพไปเป็นแรงงานที่อื่น”

พระวีระยุทธ์ อภิวีโร หรือ ครูบาจ๊อก แห่งวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งครูบาจ๊อกที่อยู่ในพื้นที่มากว่า 13 ปี ได้เล็งเห็นถึงปัญหา ทั้งน้ำแล้ง การใช้สารเคมีในการเกษตร ไฟป่าและฝุ่นละออง PM 2.5 จากการเผาป่า รวมถึงหนี้สินจากการทำเกษตรแบบเดิมๆ

ในฐานะที่ตนเองเป็นพระนักพัฒนาและมีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการนำเรื่องหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาแก้ไขและลงมือปฏิบัติจริง และภายหลังจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (บวร.) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม

จากการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ปัญหาจนประสบผลสำเร็จ ปัจจุบันดอยผาส้มได้กลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการศึกษาเรียนรู้วิถีเกษตรอย่างยั่งยืนของพื้นที่ใกล้เคียง ส่งให้ครูบาได้มาเป็นหนึ่งในคนต้นแบบ กับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”

นำโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เปิดอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการน้ำด้วยศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่ประชาชน ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน โดยดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556



“หมู่บ้านนี้เป็นคริสต์ทั้งหมู่บ้าน เวลาไปรณรงค์ ครูบาก็เทศน์ว่า 'พระเจ้าให้ดูแลรักษาสวนเอเดน พระเจ้าสั่งไว้ว่า รักพระเจ้าก็ต้องรักในสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างด้วย' ครูบาก็ไปศึกษามา มันก็เข้าหลักคำสอน เราต้องรู้จักประยุกต์ใช้”



ชาวบ้านที่สนใจจะได้เรียนรู้หลักสูตรการจัดการพื้นที่ทางการเกษตร ที่เรียกว่า “โคก หนอง นา โมเดล” ผ่านการลงแรงในกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” มีการทำนาขั้นบันได การทำฝายชะลอน้ำและขุดคลองไส้ไก่รอบนาเพื่อกักเก็บน้ำเมื่อฝนตก การปลูกหญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง รวมถึงการปลูกพืชเศรษฐกิจผสมผสานที่สร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้เกษตรกรพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็นได้

เมื่อชาวบ้านหยุดเผาป่าเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ ผลพลอยได้คือระบบนิเวศป่าต้นน้ำถูกฟื้นฟู มีพื้นที่ชุ่มน้ำมากขึ้น และที่สำคัญปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากไฟป่าทางภาคเหนือที่เรื้อรังมานาน ก็จะทุเลาเบาบางลงตามไปด้วย

สำหรับความคาดหวังของพื้นที่แห่งนี้ในอนาคต พระนักพัฒนาก็กล่าวว่า “เราไม่อยากให้คนทิ้งถิ่น คนรุ่นใหม่ไปรวมอยู่ในเมืองใหญ่ ปัญหารถติดก็จะไม่หมด ปัญหาอาชญากรรม คนแออัดไปหมด เมื่อไหร่เขาสามารถอยู่ในพื้นที่ มีอยู่มีกินมีศักดิ์ศรีได้ มีเศรษฐกิจของตัวเอง มีอาชีพที่มั่นคงพัฒนาจากพื้นที่ของเขา ดูแลป่า ดูแลน้ำที่สร้างไว้แล้ว ทำให้แผ่นดินเราเป็นแผ่นดินทองคำ ในเมื่อเรามีเครื่องมือเกษตรยั่งยืน ปฏิรูปที่ทำกิน พื้นที่ป่าก็จะเพิ่มขึ้น ทำอย่างเดียวแต่ได้หลายอย่าง

ต้องสู้กันอีกหลายยก พวกเขาตระหนักขึ้นเยอะเพราะมันแล้งเร็ว แต่ก่อนหน้าฝนก็ไหลไปทางฝาย ฝายกลายเป็นที่เก็บทรายไม่มีน้ำเลย ถ้าเราไม่หยุดปัญหาหมอกควันและไฟป่า ถ้าเราสร้างระบบป่า ฝนตกมาก็ไม่ชะล้างหน้าดินลงไป เป็นระบบที่เราอิงอาศัยกับธรรมชาติได้ ซึ่งเป็นวิถีกะเหรี่ยงอยู่แล้ว เขายังอยู่กับป่าต้นน้ำและทำยังไงไม่ให้โดนกลืน จะมีความเป็นเอกลักษณ์ของกะเหรี่ยง มันต้องมีกองกำลังคนบ้า เราก็เริ่มจากจุดเล็กๆ สร้างตัวอย่างแห่งความสำเร็จ รุ่นต่อไปก็จะเยอะขึ้น”

“โคก หนอง นา โมเดล” ต่อชีวิตคนและพืช

ไม่เพียงแค่ครูบาจ๊อกเท่านั้น ยังมีอีกหนึ่งคีย์แมนสำคัญ ก็คือ ณัฐ - ณัฐพงษ์ มณีกร อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ และเป็นพระนักเทศน์ในคริสตจักร ที่อาสามาดูแลพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายจังหวัด ทั้งกาญจนบุรี เชียงราย และเชียงใหม่ โดยใช้โบสถ์เป็นสถานที่ในการขับเคลื่อน ดูแลเรื่องสิทธิ สัญชาติ รวมถึงน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาแก้วิกฤติ เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน



“หลักทฤษฎีของความพอเพียง เราแปลงมาจากทฤษฎีใหม่ 30:30:30:10 ก็เปลี่ยนมา โคก หนอง นา แบบบ้านๆ มีบันได 9 ขั้น 4 ขั้นแรกต้องมีของกินก่อนโดยที่ไม่ต้องซื้อ คิดถึงแต่ตลาดไม่เอา พอใช้ มีของใช้ตั้งแต่หัวจดเท้า พออยู่ คุณต้องมีบ้านอยู่ที่ไม่ต้องไปเป็นหนี้เป็นล้าน มีต้นไม้มีป่า พอร่มเย็น เราพยายามให้เขาสร้างซุปเปอร์มาร์เก็ตของตัวเอง”

เขายังเล่าอีกว่า การจะเปลี่ยนความคิดของชาวบ้านจากเกษตรเชิงเดี่ยว ให้หันมาสนใจเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

“จะเปลี่ยนคนมันต้องเปลี่ยนที่วิธีคิด อบรมหลักสูตร 4 คืน 5 วัน สอนเข้มเลยนะ ให้เห็นพิษภัยระบบเกษตรเชิงเดี่ยว ให้เขามองมาที่ตัวเองว่าเราเป็นเหยื่อ ที่ทำทุกวันนี้เราเป็นเหยื่อของพ่อค้า ของนายทุนทั้งหมดเลย ชี้ให้เขาเห็นวิบัติ เห็นหายนะของตัวเอง ถ้ายังทำแบบนี้อยู่ก็จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้ง่ายเลย

บางคนก็อยู่ไม่ได้หลีกหนีไปทำงานในเมือง เด็กรุ่นใหม่ยิ่งไม่เอาเลย ส่วนมากไปเรียนแล้วไม่กลับบ้าน กระแสของโลกมันเร็ว ยิ่งพี่น้องที่อยู่บนดอยเขาก็อยากโมเดิร์น ภาษาถิ่นก็ไม่พูด ไม่ภาคภูมิใจในความเป็นเผ่า หลงลืมรากเหง้าวัฒนธรรม ซึ่งการศึกษามันต้องกลับไปเรื่องพวกนี้ทั้งหมด การเปลี่ยนคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องท้าทาย”

หากใครที่ไปอบรมกลับมาแล้ว ยังไม่เปลี่ยนความคิดก็ไม่ได้บังคับ แต่หากคิดว่าไปไม่รอด ก็อยากให้ลองเปลี่ยน ลองพิสูจน์ตามแบบในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสอน ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงแค่ผู้ที่เป็นเกษตรอยู่แล้วให้ความสนใจ แต่ยังมีคนหลากหลายอาชีพร่วมเรียนรู้ด้วย

“ต้องเปลี่ยนวิธีคิด แล้วระเบิดจากข้างใน แค่เชื่อยังไม่พอ คุณต้องศรัทธาว่าแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะเป็นทางรอด ช่วงหลังเวลาเราเอาไป 100 คน มากกว่า 80 กลับไปทำเล็กๆ 10 ไร่ให้ได้ผลผลิตมากกว่าคุณทำแบบเดิม 50 ไร่ภายใน 2 ปี

มาพิสูจน์กันแต่ต้องตามเงื่อนไข ซึ่งก็ไม่ง่าย แต่เราทำมาหลายพื้นที่มันก็เกิดผล พอประกาศเอามื้อที ผมก็แปลกใจกับคนที่มาเรียนนะ ล่าสุดมีแอร์โฮสเตส พนักงานแบงก์หลายคนมาเรียน จนบางทีศูนย์ฝึกก็ไม่พอ”



นอกจากนี้ หัวใจสำคัญที่จะเดินตามศาสตร์พระราชาให้สำเร็จคือ ชาวบ้านต้องมีความอดทนรอคอย และมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองมีอยู่

“เขาต้องมีความรู้ เขาต้องตระหนักถึงตัวตนของตัวเองว่าเขาเป็นเหยื่อ เขาทำแบบนี้เขาไม่รอดแน่ ซึ่งเกษตรแบบเดิมที่ชาวบ้านทำ มันจะมีโบรกเกอร์เข้ามา แล้วก็มาบอกว่าปลูกอันนี้แล้วเขาจะรับประกัน เขาจะซื้อราคาเท่านี้แน่นอน ทำสัญญากัน และต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยาตัวนี้เท่านั้น ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการผลผลิตแต่ต้องการขายฮอร์โมน ขายยา

ชาวบ้านส่วนมากไม่มีความอดทน อยากเห็นผลเร็วเหมือนกันหมด เศรษฐกิจพอเพียงมันต้องมีความเพียร และความอดทน จะเห็นภาพในพริบตา 1 ปีก็ไม่ได้ ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 ปี

ปีแรกทำโครงสร้างให้เสร็จ ออกแบบ ขุด จัดการระบบน้ำให้ได้ ปีที่ 2 ก็เริ่มปลูก เริ่มห่มดิน เริ่มปลูกของกิน พิสูจน์ให้เห็นว่าคุณไม่มีเงินสักบาทคุณก็รอด และแบ่งปันให้คนอื่นได้”

อาจารย์ณัฐยังทิ้งทายอีกว่า ตั้งแต่ชักชวนชาวบ้านทำเกษตร “โคก หนอง นา โมเดล” เรื่องไฟป่าในพื้นที่ก็ดีขึ้นมาก เพราะป้องกันได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

“ศาสตร์พระราชา” เห็นผลช้า แต่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ทีมข่าวยังได้พูดคุยกับ “นู-นพรัตน์ เด่นสอยดาว” ชายชาวปกาเกอะญอวัย 37 ปี ชาวบ้านแจ่มหลวง ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เกษตรกรตัวอย่างที่เชื่อมั่นในการนำศาสตร์พระราชามาใช้กับพื้นที่ของตนเอง เปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์จนประสบผลสำเร็จ เป็นพื้นที่ตัวอย่างและมีชาวบ้านใกล้เคียงเริ่มสนใจทำตาม



“ก่อนจะกลับมาจุดนี้ เป็นมนุษย์เงินเดือน สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ ก็มีความความคิดว่าอยากกลับมาอยู่บ้าน อยากจะทำวิถีพอเพียง ถึงแม้ไม่มีเงินเก็บ อย่างน้อยหนี้สินก็ไม่ต้องเยอะ พอมีพอกินไปวันๆ สามารถหมุนจ่ายได้ก็พอแล้ว

พื้นที่ตรงนี้เดิมเป็นเกษตรกรเชิงเดี่ยว ปลูกกะหล่ำปลี ฟักทองญี่ปุ่นมา 4-5 ปี รู้สึกว่าต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่มีเวลาออกไปข้างนอก ต้องใช้แรงตลอด ถ้าเราไม่ออกแรงก็ไม่ได้เงิน จึงมีความคิดว่าอยากจะทำเกษตรแบบผสมผสานแบบปลอดภัยไม่ใช้สารเคมีแล้วก็พอเพียง

เมื่อเรียนจบใหม่ๆ นพรัตน์ได้เข้าไปทำงานด้านสัตวบาล ทำคลอดวัว ผสมเทียม ฉีดยารักษาสัตว์กับบริษัทเอกชนที่ลำปางอยู่ 3 ปี เมื่อมาถึงจุดอิ่มตัวกับการเป็นมนุษย์เงินเดือน จึงตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ประกอบกับมีคนชักชวนให้เปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ ผ่านการอบรมตามหลักสูตรอย่างเข้มข้น ณ ดอยผาส้มเป็นเวลา 4 คืน 5 วัน

“พี่เดชา (เดชา ศิริภัทร หนึ่งในผู้ริเริ่มแนวทางเกษตรอินทรีย์ ในอ.กัลยาณิวัฒนา ) เขาแนะนำว่าไปอบรมศาสตร์พระราชาไหม ตอนแรกไม่ยอมเปิดใจ มีแต่บอกว่าไม่มีเวลา ที่จริงเวลาของเรามันเท่ากัน แต่ว่าเราใช้ไม่เหมือนกัน ก็เลยปฏิเสธไป 2 ครั้ง เพราะไม่อยากไปคนเดียว แกชวนครั้งที่ 3 ว่าให้ไปปรับเปลี่ยนชีวิตด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจไป



ตามศาสตร์พระราชา มีการแบ่งเป็นสัดส่วน 30:30:30:10 ที่ไหนพอจะเบิกนาได้ก็เบิก ที่ไหนพอจะขุดสระเก็บน้ำเพื่อที่จะไปเลี้ยงตรงนี้ได้ก็ทำ ที่ไหนพอจะทำพืชการเกษตรได้ พืชผักก็กันไว้อีกโซนหนึ่ง เราจะไม่ใช้พื้นที่เบียดเบียนธรรมชาติ เราต้องสร้างความร่มเย็นไว้ด้วย คือสร้างป่า จุดนี้มันเป็นที่สูง เวลาน้ำมา อย่างคลองไส้ไก่ จะให้น้ำไหล ต้นไม้ก็จะได้เจริญงอกงามเติบโตตามธรรมชาติ เราจะได้อากาศบริสุทธิ์ อย่างพริก มะเขือ เราต้องใช้ในครัว มันมีที่นี่หมด เราไม่ต้องซื้อ มันไม่มีอะไรจ่ายแล้ว พอมีพอกินแค่นี้พอ อยากกินปลาก็ไปเอาในบ่อ”

หลังจากผ่านการอบรม เขาพบว่าที่ผ่านมาการทำเกษตรของตัวเองนั้นไม่ใช่หนทางแห่งความยั่งยืน จึงเลิกใช้สารเคมีมาได้ 3 ปีกว่าแล้ว ควบคู่กับการกำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องตัดหญ้า และกำจัดแมลงด้วยการใช้น้ำหมัก

“ปกติอย่างมะม่วงฉีดไล่แมลงเขาใช้สารเคมี แต่เราใช้น้ำส้มควันไม้ เราใช้น้ำหมักที่เราไปอบรมมาใช้กำจัดแมลง 2-3 วันพ่นทีมันจะเหนื่อยหน่อย ก็ปลูกดอกไม้กำจัดแมลง เพื่อที่จะล่อแมลงด้วย คือใช้ธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเคมีพ่นทีเดียวคุมได้เป็นเดือน มันง่ายก็จริง แต่เราไม่อยากทำร้ายตัวเองและผลผลิตที่ออกมา

เราไม่อยากให้คนที่บริโภคกินสารเคมี พ่อค้าเขาก็บอกว่าคนข้างล่างเขาไม่สนใจหรอก ใส่เคมีมันก็กินหมด ซึ่งมันแทงใจเรา อุตส่าห์ผลิตของดีๆ ถ้าไม่ซื้อผมก็ไม่ง้อ”


นอกจากนี้ เกษตรกรชาวปกาเกอะญอรายนี้ ยังย้ำอีกว่าไม่อยากใช้สารเคมี และอยากปลูกพืชผสมผสานเพื่อเป็นการวางรากฐานให้กับบั้นปลายชีวิต และต้องการทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นต้นแบบของ อำเภอกัลยาณิวัฒนา

“อยากใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เพราะ 7-8 ปีที่ผ่านมา ใช้ชีวิตในเมือง ตั้งแต่กลับมาอยู่บ้าน ไม่อยากเข้าไปในเมืองแล้ว มันวุ่นวาย เวลาเข้าไปในเมืองเชียงใหม่แต่ละครั้ง รถก็ติด เหมือนมีแต่การแข่งขัน มันเหมือนชั่วโมงเร่งด่วน ไปเจอไฟแดง ไฟเขียว ต้องรีบทำ จะไปซื้อของก็ต้องแข่งกับเวลา เราอยู่แบบพอเพียงดีกว่า แต่เราก็ไม่ใช่ว่าจะเอาเปรียบธรรมชาติจนเกินไป จะหันมาใช้ชีวิตแบบพอเพียง พึ่งพาธรรมชาติ ธรรมชาติก็พึ่งพาเรา ต่างคนต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

เราก็ใช้อินทรีย์ เราได้กินของดี เผื่อคนปลายทางจะได้กินบ้าง ไม่รู้จะถึงหรือไม่ถึง เพราะว่าของมันมีน้อย แต่ว่าอย่างน้อยเราไม่ได้ใช้สารเคมี หรือสารพิษลงในน้ำ เส้นทางน้ำที่เราใช้จะไหลลงแม่แจ่มสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าเราใช้สารเคมีคนข้างล่างก็จะโดนเต็มๆ บางครั้งคนข้างล่างคิดว่า คนภาคเหนือ เวลาเจอน้ำท่วม เพราะว่าคนบนดอยทำลายป่า แต่ว่าคนกัลยาฯ อยากจะให้คนข้างล่างรับรู้ว่า คนกัลยาฯ พื้นที่กัลยาฯ เป็นคนรักษาผืนป่าผืนนี้ไว้

ผมมักจะใช้คำดูถูกเป็นแรงบันดาลใจ เห็นคนอื่นทำสำเร็จดูเหมือนมันจะง่ายครับ แต่พอลงมือจริงๆ ไม่ง่าย ยิ่งล้มเหลวมีคนเคยซ้ำเติม บางคนอาจจะจ้องซ้ำเติม บางคนก็ให้กำลังใจ ต้องเดินหน้าแล้วไม่อยากถอย ลองสู้ให้ถึงที่สุด”



“โคก หนอง นา โมเดล” นับว่าเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่เป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี แม้ฟังดูอาจจะทำได้ยาก แต่หากลองเปิดใจ ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเดิมๆ มาเป็นเกษตรกรรมแบบยั่งยืนแทน

เชื่อเหลือเกินว่า ปัญหาไฟป่า น้ำแล้ง หรือแม้กระทั่งฝุ่น PM2.5 จะค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงไปจากพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ตลอดจนพื้นที่อื่นๆ ที่ทำแนวทางนี้ไปปฏิบัติอย่างแน่นอน

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น