ตาก - ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ชายแดนจังหวัดตาก จัดงานวันอนุรักษ์ช้างไทย โดยปีนี้ชาวบ้านร่วมใจกันทำยาวิตามินสมุนไพรจากภูมิปัญญาควาญช้างให้ช้างรับประทาน พร้อมผลไม้สดให้กับช้างโขลงสุดท้ายของหมู่บ้านช้างกินฟินสุด ระบุ ควาญช้างเจอวิกฤตรอบด้านในการเลี้ยงช้าง ขาดแคลนอาหารเลี้ยงช้างวอนรัฐช่วยเหลือ
วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ชายแดนไทย-เมียนมา ภายในหมู่บ้านยะพอ หมู่ที่ 5 ตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชุมชนกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ พร้อมควาญช้างของหมู่บ้านยะพอ ได้นำช้างจำนวน 20 เชือก ซึ่งเป็นช้างโขลงสุดท้ายของหมู่บ้านออกเดินเท้าเลียบแนวชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อมารวมตัวกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์ช้างไทย ประจำปี 2563 ที่ริมลำห้วยแหล่งต้นน้ำของหมู่บ้าน ภายในปางช้าง “บ้านเพราะช้าง” ซึ่งเปิดเป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างประจำถิ่นของหมู่บ้านยะพอ
โดยก่อนเริ่มกิจกรรมในครั้งนี้ ชาวบ้านและควาญช้างได้รวมตัวกันออกหาสมุนไพรหลากหลายชนิดที่อยู่ภายในป่าของหมู่บ้าน โดยนำสมุนไพรเช่น บอระเพ็ด ตูมกาขาว ส้าน ผักหนาม ข้าวเปลือก กล้วย มะขาม ซึ่งหาได้ตามธรรมชาติภายในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยนำวัตถุดิบทั้งหมดมาตำคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อนลูกกลมๆ พอขนาด แล้วนำไปตากแห้งกลางแดดจนจับตัวเป็นก้อนที่พกพาได้ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าวิตามินช้าง ซึ่งวิตามินช้างนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ผลิตให้ช้างได้รับประทาน
โดยวิตามินช้างจะมีสรรพคุณจะเป็นทั้งยาระบาย และทำให้ช้างเจริญอาหารสุขภาพแข็งแรง ซึ่งหลังผลิตวิตามินแล้วเสร็จควาญช้างได้นำไปป้อนให้ช้างได้รับประทานพร้อมกับผลไม้สดทั้งแตงโม กล้วย อ้อย กล้วยสด โดยปีนี้มีผู้ใจบุญร่วมบริจาคผลไม้สดให้กับช้างได้รับประทานหลายตันสร้างรอยยิ้มให้แก่ช้างทุกตัวที่มีแววตาดีใจที่ได้รับประทานอาหารสดแบบอิ่มท้องซึ่งหนึ่งปีมีเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น
ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ซึ่งทุกคนได้สวมใส่ชุดชนเผ่ากะเหรี่ยง และช้างก็แต่งตัดในชุดผ้าทอมือของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นที่เมืองและการสู่ขวัญให้ช้าง และให้นักท่องเที่ยวได้นั่งช้างซึ่งหลายคนตื่นเต้นที่ได้นั่งช้างตัวจริงเป็นครั้งแรกในชีวิตสร้างสีสันภายในงานเป็นอย่างมากจนนักท่องเที่ยวต้องนำกล้องมาบันทึกภาพนี้ไว้เป็นที่ระลึก
นายอดิศร พรไพรสณฑ์ ควาญช้างรุ่นที่สองของหมู่บ้านที่มีอายุเพียง 28 ปี เล่าว่า ตนเองฝึกการเลี้ยงช้างจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ปัจจุบันช้างในหมู่บ้านแห่งนี้เหลือน้อยมากเนื่องจากควาญช้างประสบปัญหาทางด้านแหล่งอาหารของช้างมีไม่เพียงพอกับปริมาณที่ช้างต้องรับประทาน ซึ่งช่วงนี้เป็นฤดูแล้งแหล่งอาหารของช้างเหลือน้อยโดยเฉพาะหญ้าสดและผลไม้
ขณะนี้ชาวบ้านได้แก้ปัญหาไม่ให้ชาวบ้านขายช้างโขลงสุดท้ายโดยการรวมตัวสร้างเป็นปางช้างโดยเรียกว่า “บ้านเพราะช้าง” โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดกับช้างเชิงอนุรักษ์ และอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยมีช้างเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ทั้งควาญช้าง และช้างมีงานทำ และเพื่ออนุรักษ์ช้างไทยให้ยังคงอยู่ภายในหมู่บ้านชายแดนจังหวัดตากต่อไป