xs
xsm
sm
md
lg

ชวนคนรุ่นใหม่สร้าง “โคก หนอง นา” คืนสู่ท้องถิ่น ดำเนินชีวิต “พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอเพียง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การหวนคืนสู่บ้านเกิดเพื่อดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ทำการเกษตรหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวเป็นทางเลือกของหลายๆ คน เหมือนอย่าง เบน-มุทิตา ค้าขาย อดีตชาวกรุงที่ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่จังหวัดลพบุรี บ้านเกิดของสามี พร้อมลงมือทำการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นำ“โคก หนอง นา โมเดล” มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ “วัลลภาฟาร์ม” จนประสบความสำเร็จในธุรกิจฟาร์มสเตย์ ทำให้ทุกคนในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้ตามเป้าหมาย แถมยังถ่ายทอดองค์ความรู้และแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจได้อีกด้วย

คืนสู่ธรรมชาติเพื่อสร้างครอบครัว


ชีวิตของเบนและสามีมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อตัดสินใจสร้างครอบครัว ทั้งคู่มีความเห็นที่ตรงกันว่าอยากให้ลูกได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และมีความสนใจในการทำเกษตรกรรมแบบที่สามารถพึ่งพาตนเอง โดยมีพื้นที่ของตัวเองเป็นทุนเดิม ซึ่งเมื่อก่อนครอบครัวของสามีเคยใช้เป็นที่สำหรับทำฟาร์มเลี้ยงม้าขนาด 7 ไร่ ซึ่งมีทั้งความอุดมสมบูรณ์และความร่มรื่น ทั้งสองคนตัดสินใจเข้าร่วมการอบรมในโครงการ “ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน แล้วนำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมและปฏิบัติจริงผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคีและกิจกรรมอื่นๆ มาประยุกต์ใช้กับ “วัลลภาฟาร์ม” พื้นที่ของครอบครัว โดยค่อยๆ ขยับขยายและเช่าพื้นที่เพิ่มอีก 5 ไร่ เพื่อนำโคก หนอง นา โมเดล มาใช้แบบเต็มตัว

ฐานกิจกรรมการเรียนรู้ศาตร์พระราชาที่วัลลภาฟาร์ม

ภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่วนเวียนเกิดขึ้นอยู่ทุกปีทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เงินทองแต่คืออาหาร เราจึงสร้างครอบครัวของเราให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยใช้การเกษตรเป็นอาชีพหลักประกอบกับความตั้งใจที่จะให้ลูกของเราได้เติบโตขึ้นท่ามกลางธรรมชาติบนพื้นที่ที่ครอบครัวเรามีอยู่แล้วก็เป็นสิ่งที่วางแผนเอาไว้แล้วด้วยเช่นกันเราจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ มุทิตากล่าว
รวมพลังเครือข่ายสร้างกำลังใจไม่สิ้นสุด




โคก หนอง นาโมเดล” คือการจัดแบ่งสัดส่วนพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมให้เหมาะกับพื้นที่ของตัวเองและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เหล่า ‘คนมีใจ’ รวมถึงมุทิตาเปลี่ยนพื้นที่ของตนเองเป็นโคกหนอง นา ได้สำเร็จ ก็คือเครือข่ายภายในมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติที่ถักทอจากกลุ่มผู้สนใจในการทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาที่ได้รู้จักกันผ่านการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน
“เครือข่ายของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ส่งให้การทำโคกหนอง นา ประสบความสำเร็จอย่างสูงในทุกพื้นที่ เพราะทุกคนจะเข้ามาช่วยเหลือกันร่วมลงมือลงแรงหรือที่เราเรียกว่า ‘เอามื้อสามัคคี’ ทำให้เราได้รู้จักผู้คนใหม่ๆจากแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย เกิดการแบ่งปันทั้งผลิตผลและแนวคิดใหม่ๆที่หาจากไหนไม่ได้นอกจากที่นี่ และที่สำคัญก็คือความเชื่อมั่นในการทำโคก หนอง นาให้สำเร็จในพื้นที่ของตัวเองจึงอยากให้ทุกคนลองเข้ามาศึกษาและรับการอบรมจากทางมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติก่อนเพราะนอกจากจะได้รับความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ยังได้เพื่อนใหม่ๆที่จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูล มีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำวิธีการแก้ปัญหาเกิดเป็นกำลังใจที่ทำให้เราไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆและพร้อมที่จะฟันฝ่าไปด้วยกันจนกว่าจะสัมฤทธิ์ผล” มุทิตา กล่าวเสริม


รวมพลฅนสร้างโคก หนอง นา


มุทิตา ค้าขาย
ด้วยความช่วยเหลือและการสนับสนุนที่ดีของเครือข่ายของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติทำให้โคก หนอง นา โมเดลเริ่มที่จะผลิดอกออกผลเกิดเป็นความสำเร็จบนพื้นที่ของวัลลภาฟาร์มอย่างทุกวันนี้และเพื่อเป็นการสานต่อความสำเร็จของแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆเพื่อขยายขนาดและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายจึงทำให้วัลลภาฟาร์มมอบพื้นที่สำหรับการจัดงาน รวมพลฅนสร้างโคก หนอง นา ตอนมีป่า มีน้ำมีกิน ครั้งที่ 1” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดย สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้จากห้องเรียนมีชีวิตและกิจกรรมต่างๆโดยจะได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านและได้รับกำลังใจจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำโคกหนอง นา พร้อมพบกับผลผลิตอินทรีย์จากแปลงโคก หนอง นา ในตลาดนัดกสิกรรมธรรมชาติ




ธีระ วงษ์เจริญ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า ในระยะเริ่มต้นนั้นการทำโคก หนอง นา อาจไม่ได้กระแสตอบรับที่ดีอย่างทุกวันนี้ นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาประกอบกับเรายังไม่มีตัวอย่างความสำเร็จที่มาจากการใช้แนวทางนี้ที่มากพอ ฉะนั้นเมื่อในวันนี้โคก หนอง นา มีตัวอย่างความสำเร็จเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับจากเกษตรกรมากขึ้นเรื่อยๆเราจึงจำเป็นต้องมีการติดตามผลเพื่อให้เรามั่นใจว่าทุกคนในเครือข่ายนำองค์ความรู้ที่ได้รับการอบรมมาจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติไปใช้จนสามารถพึ่งพาตนเองได้จริงเพื่อให้ความสำเร็จตรงนี้มีความมั่นคงและยั่งยืน

ธีระ วงษ์เจริญ

นอกเหนือจากการสร้างเครือข่ายที่เหนียวแน่นและการติดตามผลแล้วเราจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อให้พวกเขาเหล่านี้ไปถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่อีกด้วย ซึ่งวีธีการที่จะทำให้พวกเขาเหล่านี้เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างง่ายดายมากขึ้นก็คือการจัดงานรวมพลฅนสร้างโคก หนอง นา ตอนมีป่า มีน้ำ มีกิน ที่นอกจากจะได้รับความรู้ที่ถูกต้องแล้วทุกคนที่มาร่วมงานยังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นการออกแบบวางแผนทำโคก หนอง นา ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะมีต้นทุนมากน้อยแค่ไหนก็ตามการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายกันออกไปการพบปะกับผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้ต่างๆและการเข้าร่วมเครือข่ายที่มากขึ้น และเมื่อเครือข่ายของเรามีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีต้นแบบที่สำเร็จเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยโน้มน้าวให้คนรุ่นใหม่หันมานำแนวทางนี้ไปใช้ปฏิบัติกันมากขึ้นในที่สุด