คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยภาพแสดงวิธีการล้างมือด้วยสบู่และแอลกอฮอล์ ที่ถูกต้องตามวิธีขององค์การอนามัยโลก ด้านองค์การสุรา กรมสรรพสามิต ได้ออกมาแจงความแตกต่างระหว่าง ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ กับเอทิลแอลกอฮอล์ เผยแอลกอฮอล์ชนิดเอทิลแอลกอฮอล์ เหมาะสำหรับฆ่าเชื้อบนผิวหนังได้
วันนี้ (23 มี.ค.) ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยภาพแสดงวิธีการล้างมือที่ถูกต้องตามวิธีขององค์การอนามัยโลก โดยบอกวิธีการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ และวิธีการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ นอกจากนี้ ได้ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อตามพื้นผิวที่มีสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19ได้ โดยเอทิลแอลกอฮอล์, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ มีความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ ปลอดภัยต่อผิวหนัง, โซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือผลิตภัณฑ์ฟอกขาว ควรเจือจางก่อนใช้งาน อาจทำให้แสบร้อนบริเวณผิวหนัง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ทางองค์การสุรา กรมสรรพสามิต ได้ออกมาแจงความแตกต่างระหว่างไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ กับ เอทิลแอลกอฮอล์ โดยไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียได้ดีกว่า การสัมผัสที่ผิวหนังทำให้ผิวแห้ง แตกลอก เกิดผื่นแพ้และระคายเคือง ทางการหายใจทำให้ระคายเคืองเยื่อบุจมูกและคอ การสัมผัสที่ดวงตา ระคายเคืองเยื่อบุตา และเป็นแผลที่กระจกตา หากเข้าสู่ร่างกายเกิน 200 มล. ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว กดระบบประสาทส่วนกลางและระบบหายใจ เกิดภาวะช็อก เหมาะสำหรับ ทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ไม่นิยมใช้กับผิวหนัง
ส่วน เอทิลแอลกอฮอล์ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และออกฤทธิ์ต่อไวรัสได้ดีกว่า การสัมผัสที่ผิวหนังทำให้ผิวแห้งแต่ไม่ระคายเคือง และการสัมผัสทางการหายใจและสัมผัสที่ดวงตา อาจทำให้ระคายเคืองแต่น้อยกว่า ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หากเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน หรือรับในปริมาณที่มากจนมีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 300 มก./100 มล. แอลกอฮอล์ชนิดนี้เหมาะสำหรับฆ่าเชื้อบนผิวหนัง และทำความสะอาดบนอุปกรณ์การแพทย์