มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ซึ่งทำงานด้านสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนที่อาศัยอยู่ร่วมกับพื้นที่ป่า ออกแถลงการณ์ศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า ฉบับที่ 1 เรื่อง การดำเนินการสนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า 32 ชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และโพควา โปรดักชั่น ได้จัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า” เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 เพื่อดำเนินการสนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่าในเบื้องต้น 19 ชุมชน ครอบคลุมเนื้อที่ราว 253,780-0-94 ไร่ และต่อมาได้ขยายการสนับสนุนเป็น 32 ชุมชน รวมเนื้อที่ราว 394,475-2-28 ไร่ ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจในการดูแลจัดการผืนป่าที่อยู่โดยรอบของชุมชน ที่ชุมชนเรียกว่า “ป่าชุมชน” หรือ “ป่าจิตวิญญาณ”
สถานการณ์ในพื้นที่เหล่านี้ ณ ปัจจุบัน นอกจากกำลังเผชิญกับวิกฤติเชื้อโรคโควิดระบาด เช่นเดียวกับทุกคนทุกส่วนในสังคมเเล้ว พวกเขายังต้องเผชิญกับวิกฤติไฟป่าที่รุนแรงและลุกลามเข้ามาในพื้นที่ป่าชุมชนและป่าจิตวิญญาณ แม้ว่าที่ผ่านมาพวกเขาจะพยายามช่วยกันจัดทำแนวป้องกันไฟรอบพื้นที่และออกลาดตระเวนเฝ้าระวังกันมาตลอด 24 ชั่วโมงตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากสถานการณ์ปีนี้ ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่น้อยกว่าทุก ๆ ปี ทำให้ความแห้งแล้งและไฟป่าหนักหน่วงยิ่งขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ นั่นทำให้ต้องระดมกำลังจากทุกครอบครัวเพื่อร่วมดับไฟป่า ทั้งกลางวันและกลางคืนเต็มกำลังติดต่อกันมานานหลายสัปดาห์ เพื่อให้สามารถรับมือกับไฟป่าได้ ซึ่งปรากฏชัดว่าในขณะนี้พื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่จิตวิญญาณที่ชุมชนดูแลอยู่สามารถรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ได้ และถูกเผาผลาญไปเพียงประมาณ 20% เท่านั้น
แต่ทว่า ชาวชุมชนที่กำลังทำหน้าที่ในการดูแลไฟเหล่านี้ กลับขาดแคลน อุปกรณ์และเครื่องมือในการดับไฟ เช่น หน้ากากผจญเพลิง วิทยุสื่อสาร เครื่องพ่นลม ร้องเท้าบูท ไฟฉายคาดหัว กระติกน้ำสนาม อาหารแห้ง และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นจำนวนมาก ดังนั้น พวกเราทีมงานของทั้งสามองค์กร จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า” เพื่อขอรับการสนับสนุนบริจาคทุนทรัพย์และวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าว
โดยมีศูนย์ประสานงานอยู่ที่ “มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ” 77/1 หมู่ 5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เป็นผู้ประสานงานฯ โดยระดมการสนับสนุนผ่านธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี นายประยงค์ ดอกลำใย และนางสาวสุวดี ทะนุบำรุงสาสน์ หมายเลขบัญชี 787-0-37294-3 ทั้งนี้ เพื่อนำไปจัดหาและส่งความช่วยเหลือไปสนับสนุนยังชุมชนใน 32 พื้นที่ (ดังมีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์) โดยเร่งด่วนต่อไป ซึ่งยอดรวมการบริจาค ณ วันที่ 9 เมษายน 2563 เวลา 11.33 น. รวมทั้งสิ้น 176,187.17 บาท เพื่อสร้างความเข้าใจและรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง “ศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า” ขอแถลงรายงานความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินการสนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า ฉบับที่ 1 ดังต่อไปนี้
1.เราขอขอบคุณผู้บริจาคเงินทุนและอุปกรณ์ดับไฟป่าทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นขวัญกำลังใจของชุมชนในการดูแลป่าชุมชนหรือป่าจิตวิญญาณ โดยเราตั้งเป้า ขอระดมทุนให้ชุมชนดูแลป่าไร่ละ 1 บาท จำนวน 394,475-2-28 ไร่ หรือประมาณ 394,475 บาท เป็นเวลา 10 วัน (ระหว่างวันที่ 6-16 เมษายน 2563)
2.เราขอยืนยันว่าเงินบริจาคและอุปกรณ์ดับไฟจะไปถึงในทุกชุมชนอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง และจะสื่อสารการทำงานสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านเพจ “มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ” เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
3.เราหวังเป็นอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้ นี้ความร่วมมือกันอย่างสร้างสรรคของคนในสังคม จะนำมาซึ่งความความเข้าใจ เห็น และเอื้ออาทรซึ่งกันและกันมากขึ้น ระหว่างชุมชน-ท้องถิ่นในพื้นที่ป่า หน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และภาคประชาสังคม อันจะนำไปสู่ ความยั่งยืนของทรัพยากรป่าไม้ อากาศที่บริสุทธิ์ และสิ่งแวดล้อมที่ดี สำหรับทุกคนในสังคมและคนรุ่นหลังสืบไป..ด้วยจิตคารวะ “ศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า” แถลงการณ์ ณ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) 9 เมษายน 2563
รายชื่อ 32 ชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อจัดการไฟป่า 1.พื้นที่บ้านเวียงแหง ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จำนวนพื้นที่ 5,000 ไร่ 2.บ้านแม่คองซ้าย ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวนพื้นที่ 10,908 ไร่ 3.บ้านแม่ป่าเส้า ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวนพื้นที่ 8,000 ไร่ 4.บ้านแม่อ้อใน ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวนพื้นที่ 1,011 ไร่ 5.บ้านห้วยหก-น้ำบ่อใหม่ ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จำนวนพื้นที่ 3,870 ไร่
6.บ้านห้วยน้ำริน ต.ทุ่งปี้ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ จำนวนพื้นที่ 2,419 ไร่ 7.พื้นที่ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ จำนวนพื้นที่ 24,513 ไร่ 8.บ้านแม่โต๋ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ จำนวนพื้นที่ 25,000 ไร่ 9.พื้นทื่ ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน จำนวนพื้นที่ 11,400 ไร่ 10.พื้นที่ห้วยน้ำหิน ต.สถาน อ.นาน้อย จ.น่าน จำนวนพื้นที่ 1,200 ไร่ 11.บ้านกอก ต.เชียงกลาง อ.เชียงกลาง จ.น่าน จำนวนพื้นที่ 10,068 ไร่ 12.บ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน จำนวนพื้นที่ 21,034.33 ไร่
13.บ้านแม่กองคา ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวนพื้นที่ 20,000 กว่าไร่ 14.บ้านแม่หาด ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวนพื้นที่ 13,685 กว่าไร่ 15.บ้านนาดอย ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวนพื้นที่ 7,935 ไร่ 16.บ้านแม่อมกิ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวนพื้นที่ 17,000 กว่าไร่ 17.บ้านแม่ลาคี ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวนพื้นที่ 13,000 กว่าไร่ 18.บ้านแม่โปคี ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวนพื้นที่ 3,480 ไร่
19.บ้านขุนแม่เหว่ย-แม่ปอคี ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวนพื้นที่ 8,412 ไร่ 20.บ้านปางทอง ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวนพื้นที่ 14,437 ไร่ 21.บ้านแม่วะหลวง ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวนพื้นที่ 34,163 ไร่ 22.บ้านแคววัวดำ ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย จำนวนพื้นที่ 5,200 ไร่ 23.บ้านห้วยลุหลวง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย จำนวนพื้นที่ 4,282-0-94 ไร่ 24.บ้านหัวฝาย ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย จำนวนพื้นที่ 3,300 ไร่
25.บ้านห้วยส้าน ต.ห้วยชมพู อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย จำนวนพื้นที่ 5,500 ไร่ 26.บ้านหินลาด ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จำนวนพื้นที่ 27,000 ไร่ 27.บ้านแม่ปูนน้อย ห้วยไร่ ห้วยงู ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จำนวนพื้นที่ 13,000 ไร่ 28.บ้านกลาง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จำนวนพื้นที่ 16,727 ไร่ 29.บ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จำนวนพื้นที่ 18,102 ไร่ 30.บ้านขวัญคีรี ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง จำนวนพื้นที่ 14,954 ไร่ 31.บ้านแม่หมี ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง จำนวนพื้นที่ 13,875 ไร่ 32.บ้านแม่ฮ่าง ต.นาแก อ.งาว จ.ลำปาง จำนวนพื้นที่ 16,000 ไร่ รวมจำนวนพื้นที่ชุมชนจัดการไฟประมาณ 394,475-2-28 ไร่