เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ฟ้องศาลปกครองคำสั่งแบน 2 สารเคมี อ้างข้อมูลพิจารณาแบนจากเอ็นจีโอใช้ข้อมูลเท็จ ย้ำ “พาราควอต-ไกลโฟเซต” ไม่มีสารตกค้าง อัดที่ตายเพราะต้องการฆ่าตัวตายเอง
วันนี้( 15 มิ.ย.) เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง นำโดย น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร พร้อมเกษตรกร ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ข้าวโพด ลำไย ซึ่งพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็น 1 ใน 8 พืชเกษตรที่ทำรายได้เข้าประเทศ เดินทางมายื่นฟ้อง รมว.อุตสาหกรรม นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อศาลปกครอง และขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาและผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 63 เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการที่นำมาสู่การประกาศให้ 2 สารเคมีดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หรือ วอ.4 เป็นการสร้างข้อมูลเท็จร่วมกันของ 8 หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขกับเอ็นจีโอ ว่าพบสารตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร แต่เมื่อทางกลุ่มไปตรวจสอบกลับไม่พบว่ามีข้อมูลแต่อย่างใด มีแต่นำข้อมูลของเอ็นจีโอมาเสนอแบนวัตถุอันตรายพาราควอต และเมื่อไปดูข้อมูลของเอ็นจีโอ ไม่พบว่ามีการตกค้างของสารพาราควอต และไกลโฟเซต ส่วนสารคลอร์ไพริฟอส ตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ดังนั้น ข้อมูลของการตกค้างในสินค้าเกษตรนั้นจึงเป็นเท็จ และการใช้พาราควอตผิดวัตถุประสงค์ที่กระทรวงสาธารณสุขบอกว่ามีผู้ป่วย 14,000 คนต่อปีนั้น พบว่ามีผู้เสียชีวิต 600 คน ซึ่งทางกลุ่มได้ไปขอข้อมูลทางศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่ปี 2559-2562 พบว่ามีผู้ป่วยเพียง 1,000 คนเท่านั้น และ 900 กว่ารายพบว่าเป็นการกินสารพิษเพื่อฆ่าตัวตาย
“เกษตรกรไม่มีใครได้รับอันตรายจากสารพิษเลย เพราะยานี้เอาไว้ฆ่าหญ้า ไม่ได้กินเพื่อฆ่าตัวตาย และที่บอกว่าก็ลองดูสิว่าตายหรือไม่ ขอย้ำว่าพาราควอตมีไว้ฆ่าหญ้า ไม่ได้มีไว้ฆ่าตัวตาย”
ส่วนการที่นักวิชาการที่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม น.ส.อัญชุลีกล่าวว่า เมื่อได้สอบถามจากต้นสังกัดก็พบว่า ไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่เผยแพร่สู่สาธารณะ ได้การรับรองแต่อย่างใด ส่วนประเด็นการแพร่จากแม่สู่ลูกนั้น ข้อมูลที่ถูกอ้างก็ไม่ได้รับการยืนยันจากทางโรงพยาบาลที่ถูกกล่าวอ้าง ดังนั้นจึงควรให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร
น.ส.อัญชุลีกล่าวว่า หลัง 1 มิ.ย.ที่มีการแบนสารเคมี มีผลเดือดร้อนต่อเกษตรกร โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน พอฝนตก 3 วันหญ้าขึ้น เมื่อไม่ให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าหญ้าจะให้เกษตรกรกำจัดหญ้าที่อยู่ในแปลงเกษตรอย่างไร ในเรื่องสารทดแทนทางกรมวิขาการเกษตรก็บอกว่าสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับสารพาราควอตนั้นไม่มี อีกทั้งสารชีวพันธ์ทุกยี่ห้อที่วางขายตามท้องตลาด ก็มีส่วนผสมของพาราควอตและไกลไฟเซต ดังนั้นเมื่อเกษตรไม่มีทางเลือกอื่นใด และคนที่เสนอแบนสารเคมีก็ไม่มีทางเลือกให้เกษตรกรเลือกเลย แล้วเสนอแบนเพื่อเหตุผลใด