ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 32.32 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 29.53 ภาคกลาง ร้อยละ 25.51และภาคใต้ ร้อยละ 12.67) จำนวนทั้งสิ้น 1,121 ราย ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2563 ในหัวข้อ “ทางออกเกษตรกรไทย..กับการห้ามใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร”
วัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรต่อการยกเลิกและห้ามใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส และพาราคอต
ผลการสำรวจพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 94.11 ทราบข่าวเกี่ยวกับการยกเลิกใช้สารเคมีทางเกษตร 3 ชนิด โดยมีเพียงร้อยละ 5.89 ที่ไม่ทราบข่าว
ความคิดเห็นต่อการยกเลิกและห้ามใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร พบว่าเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 57.09 เห็นด้วยกับการยกเลิก ในขณะที่ร้อยละ 42.91 ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตร
เมื่อสอบถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการยกเลิกและห้ามใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร พบว่า ร้อยละ 74.40 จะได้รับผลกระทบ โดยอันดับ 1 บอกว่าจะได้รับผลกระทบจากการจำเป็นต้องซื้อสารเคมีชนิดใหม่ทดแทนในที่ราคาสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นด้วย (ร้อยละ 74.09) อันดับ 2 ได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของสารเคมีที่นำมาทดแทน (ร้อยละ 67.64) อันดับ 3 อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง และขั้นตอนต่างๆ มีความยุ่งยากมากขึ้น (ร้อยละ 29.78) และอันดับ 4 ได้รับผลกระทบจากการต้องจ้างแรงงานในการดูแลรักษาพื้นที่ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 2.67) มีเพียงร้อยละ 25.60 ที่คิดว่าไม่ได้รับผลกระทบ
เมื่อสอบถามว่าหากภาครัฐมีการส่งเสริมให้ใช้สารอื่นทดแทน สารเคมีทั้ง 3 ชนิด พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.93 คิดว่าจะใช้สารทดแทน โดยให้เหตุผลว่า ขาดแคลนแรงงานจึงจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช ส่วนร้อยละ 30.07 ที่ไม่ต้องการใช้ เนื่องจากอาจทำให้การผลิตมีต้นทุนสูงขึ้นและจะปรับเปลี่ยนเป็นการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร
สำหรับข้อเสนอแนะต่อทางออกของการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด พบว่า อันดับ 1 คือ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดหาสารเคมีอื่นที่มีประสิทธิภาพมาทดแทนให้เกษตรกรใช้ (ร้อยละ 58.16) อันดับ 2 ภาครัฐควรช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (ร้อยละ 53.61) และอันดับ 3 ควรส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรปลอดสารพิษเพื่อลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม (ร้อยละ 52.19)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีมติจากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้พาราคอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2563 แต่สำหรับไกลโฟเชตอนุญาตให้ใช้ได้แบบควบคุมปริมาณ
จากผลการสำรวจดังกล่าว พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสารเคมี ดังนั้นต่อจากนี้หลายๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งหาทางออกให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เช่น เร่งหาสารเคมีใหม่ทดแทน รวมถึงส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย มีมาตรการและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนรองรับให้แก่ผู้ประกอบการสารเคมีทางการเกษตร รวมถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ ต่อไป