ชัยนาท - รมช.เกษตร มอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติการแบนสารคลอไพริฟอสและพาราควอตแก่สารวัตรเกษตร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หลังกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศเป็นวัตถุอันตราย มีผลบังคับใช้วันนี้
วันนี้ (1 มิ.ย.) น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะทำงาน และ น.ส.อิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เดินทางไปที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5 อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติการแบนสารเคมีการเกษตร ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ประกาศให้ คลอไพริฟอส และพาราควอต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามมิให้ผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน หรือการมีไว้ในครอบครอง โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563
โดยเน้นย้ำให้สารวัตรเกษตรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสารคลอริฟอส และพาราควอต ของผู้ครอบครองตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติเป็นไปตามประกาศอย่างเคร่งครัด เนื่องจากระวางโทษผู้ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ให้สร้างการรับรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเขา ผู้ส่งออก ผ่านช่องทางการรับรู้ต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร การประชุมร่วมกับหน่วยงานจังหวัดและพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการเกษตร (ศพก) และผ่านทางสารวัตรเกษตรอาสา เป็นตัน
น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ในวันนี้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมมีผลบังคับใช้แล้ว ทุกคนที่มีสารเคมีทั้ง 2 ชนิดอยู่ในครอบครอง จะต้องนำส่งคืนให้แก่บริษัทต้นทาง ส่วนการจะนำสารเคมีชนิดอื่นที่สามารถนำมาใช้ทดแทนคลอริฟอสและพาราควอตได้ มีอยู่ 16 ชนิด แต่ตนไม่สามารถตอบได้ว่ามีตัวไหนบ้าง เพราะไม่อยากให้มีข้อครหาว่ารัฐมนตรีเป็นเซลส์ขายยา ไม่ให้ใช้ตัวนั้น ก็พยายามมาให้ใช้ตัวนี้ ซึ่งเป็นคำพูดที่บ่ายเบี่ยงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ตนก็เลยไม่เคยดูเลยว่าสารเคมีที่จะนำมาใช้ทดแทนได้มีอะไรบ้าง จึงไม่สามารถตอบได้ ต้องให้นักวิชาการเป็นผู้ตอบในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การใช้เครื่องจักรกล วิศวกรรมทางการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร ที่ได้ออกไปให้ความรู้แก่เกษตรกรแล้ว การยกร่องแปลง การปลูกระยะห่าง และการปรับปรุงดินตามสูตรของกรมวิชาการเกษตร ที่จะช่วยลดและกำจัดหญ้าในแปลงเพาะปลูกได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี