xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายหนุนแบนสารพิษบุก ก.อุตฯ จี้ยึดมติเดิม จับตา ก.อุตฯ ถก 30 เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรมรับหนังสือจากเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ยืนยันพร้อมนำข้อเสนอคัดค้านการเลื่อนแบน 2 สารพิษออกไปจากกำหนดเดิมตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นางสาวรัตนา รักษ์ตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยระหว่างการเป็นตัวแทน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มารับหนังสือจากเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานวันที่ 30 เม.ย.นี้จะนำข้อเสนอจากกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการให้ยึดมติเดิมในการแบน 2 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ห้ามครอบครอง) มีผลบังคับวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ไปหารือในที่ประชุมเพื่อขอข้อยุติในประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้กรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้ส่งหนังสือการหาสารตัวอื่นมาทดแทนสารเคมีทั้ง 2 ชนิดตามที่เคยหารือไว้กับคณะกรรมการ

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง กล่าวว่า วันนี้ (28 เม.ย. 2563) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้คณะกรรมการฯ ยึดตามมติเดิมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่จะยกเลิกการใช้ 2 สารเคมี คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส วันที่ 1 มิถุนายน 2563 นี้ โดยขอคัดค้านความเห็นของนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เสนอให้ขยายระยะเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นปลายปี 2563 หรือจนกว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลง

“การที่สภาหอฯ ได้อ้างขอให้เลื่อนเวลาบังคับออกไปเพราะกังวลเรื่องการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกแบนพาราควอตมากกว่าทศวรรษ โดยล่าสุดสหภาพยุโรปได้ประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 และเวียดนามแบนพาราควอตมาตั้งแต่ปี 2560 และแบนคลอร์ไพริฟอสมาตั้งแต่ต้นปี 2562 ซึ่งไม่มีประเทศใดอ้างปัญหาการตกค้างจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและอุตสาหกรรมใดเลย” น.ส.ปรกชลกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องจากเครือข่ายในการแบนสารดังกล่าวและคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติในปลายปีที่แล้ว ให้เลื่อนการแบนสารทั้งสองชนิดในทันทีไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 โดยให้มีการออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 ส่วน ไกลโฟเชต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 และยังมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่หมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันที่มีมติ
กำลังโหลดความคิดเห็น