น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ทำหนังสือถึง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศในการกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จากที่กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563
โดยขอขยายเวลาบังคับใช้ออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ เนื่องจากสารดังกล่าวเพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปอาหาร ทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้ ซึ่งหากไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติขยายเวลาการบังคับใช้ อาจส่งผลกระทบต่อการนำสินค้าขาเข้าจากต่างประเทศที่ต้องมีค่ากำหนดสารตกค้างจากสารเคมีดังกล่าวเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) จนทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก ซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยและมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในช่วงวิกฤตนี้
นอกจากนี้ ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ได้ทำหนังสือถึงสำนักควบคุมและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เรื่องติดตามผลการพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าและใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ถูกจำกัดการใช้ โดยขอให้ (ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และ พาราควอต) ผู้ผลิตสามารถจัดการสินค้าที่มีอยู่แต่ไม่สามารถผลิตได้ให้หมดไป ไม่ก่อให้เกิดปัญหาและกระทบ ต่อภาคเอกชนและภาครัฐ เมื่อมีการประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ในวันที่ 1 มิถุนายน 62 ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562
โดยมีข้อเสนอให้ควรเร่งรัดการออกใบอนุญาตนำเข้าไกลโฟเซต เพื่อเตรียมความพร้อมให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ของเกษตรกรสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกที่จะมาถึงระหว่าง มิ.ย.-ต.ค. 63 สำหรับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายอื่นๆ
ทั้งนี้ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร มีหนังสือตอบกลับว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 30 เม.ย. 2563 มีวาระแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย