“มนัญญา” เผยให้กรมวิชาการเกษตรทำหนังสือตอบกรมโรงงานแล้ว ยืนยันให้แบนสารพิษตามเดิม ไม่มีเหตุผลต้องเลื่อน งง ประธานสภาหอการค้าไทย เคยเห็นด้วยให้แบน ทำไมเปลี่ยนความเห็น ย้ำ ประชุม กก.วัตถุอันตราย 30 เม.ย.ให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ เรียกศักดิ์ศรีกลับคืนมา ด้านที่ปรึกษา รมช.เกษตรฯ เผยประชุมศุกร์นี้ เพื่อรับรองมติ 27 พ.ย. 62 ที่ให้เลื่อนแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส จาก 1 ธ.ค. 62 เป็น 1 มิ.ย. 63 แต่ปลัดเกษตรฯ เสนอหยิบประเด็นสต๊อก 3 สารของเอกชนค้างเกือบ 3 หมื่นตัน มาหารือด้วย คาดใช้งบจำกัดนับพันล้าน และอาจถูกฟ้อง
ภายหลังจากที่ นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขอเลื่อนการแบนสารเคมีการเกษตรออกไปเป็นสิ้นปี 2563 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น วันนี้ (28 เม.ย.) น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วย รองปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่เป็นกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะเข้าประชุมวันที่ 30 เม.ย.นี้ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจนำไปแสดงท่าทีของกระทรวงเกษตรฯ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยยืนยันว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายชัดเจนไม่เห็นด้วยกับมติวันที่ 27 พ.ย. 62 ที่เลื่อนการแบนสองสาร พาราควอต คลอร์ไพริฟอส จากวันที่ 1 ธ.ค. 62 ไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 63 และจำกัดการใช้ สารไกลโฟรเซต เพราะนโยบายของรัฐมนตรี ต้องการให้แบนทั้ง 3 สาร ซึ่งในวันนี้ได้เรียกกรมวิชาการเกษตร มาถามให้ชัดเจนตามที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ระบุว่า ยังไม่เห็นหนังสือตอบรับจากกรมวิชาการเกษตร ที่ต้องเสนอแผนรองรับผลกระทบเกษตรกร ยกเลิกการใช้ 3 สาร และจัดทำบัญชีสารทดแทน หรือวิธีการทำเกษตรเหมาะสม ดังนั้น ยืนยันได้ว่า ได้ทำหนังสือตอบแล้วไปถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ตามที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีหนังสือมาเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ให้กรมวิชาการเกษตร ตอบกลับมาในระยะเวลา 4 เดือนที่ครบกำหนดวันที่ 27 เม.ย.
“จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะขยายเวลาการบังคับใช้แบน 3 สาร ออกไปถึงสิ้นปี 63 ตามที่มีภาคเอกชนหรือบุคคล ได้ทำหนังสือเสนอต่อ รมว.อุตสาหกรรม เช่น กรณีที่ นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำหนังสืออ้างว่าหากไม่เลื่อนไปถึงสิ้นปี จะกระทบการนำเข้าวัตถุดิบ ผลิตอาหารสัตว์ และอาหารคน ซึ่งถือเป็นความเห็นส่วนบุคคล ซึ่งที่ผ่านมาสภาหอการค้าฯ ก็เคยแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการแบน 3 สาร จึงไม่รู้ว่าวันนี้ทำไมจึงกลับความเห็น” น.ส.มนัญญา กล่าว
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เสนอที่ประชุมให้นำเรื่องการพิจารณากำหนดมาตรฐานไอเอสโอ สำหรับโรงงานที่ผลิต นำเข้า จำหน่าย สารเคมีการเกษตร ขึ้นมาเป็นเรื่องวาระเพื่อพิจารณาในวันที่ 30 เม.ย.ด้วย เนื่องจากได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่เดือน ก.พ. 63 เพื่อให้เป็นวาระพิจารณา กำหนดให้ทุกโรงงานต้องมีมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ แต่เพิ่งทราบว่าเรื่องดังกล่าวถูกบรรจุเป็นวาระเพื่อทราบเท่านั้น ไม่ทราบว่าเจตนาที่ทำเป็นวาระเพื่อทราบเพื่ออะไร เพราะทำให้น้ำหนักลดลงไปมาก เหมือนกับมีความพยายามที่ทำให้การให้โรงงานมีไอเอสโอ คุ้มครองผู้บริโภค เกษตรกร กลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ
“เพราะฉะนั้นในวันที่ 30 เม.ย.ดิฉันขอให้ ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ กรมวิชาการเกษตร เรียกศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการที่ดีกลับคืนมา เพราะเรากำลังทำสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์เพื่อประชาชนเพื่อเกษตรกร ซึ่งในที่ประชุมทุกคนมีสิทธิโต้แย้ง อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต้องทำ เรื่องแบน 3 สาร เรื่องไอเอสโอ ดิฉันอยากทำให้ดีที่สุดเพื่อประชาชน แต่ที่พูดมาทำมาสุดท้ายโดนกระทรวงอุตสาหกรรม ยกประเด็นว่าเป็นเพราะกระทรวงเกษตรฯ กรมวิชาการเกษตร ไม่ทำหนังสือตอบมา ยกมาอ้างเป็นเหตุให้เลื่อนแบน 3 สาร ไปอีก ดิฉันก็ไม่รู้คนพูดกลับไปกลับมา ไปกินอะไรกัน รมช.เกษตรฯ พูดมาเป็นปี ประชาพิจารณ์ก็ผ่านแล้วในเรื่องมาตรฐานโรงงานสารเคมี แต่บางคนพูดเปลี่ยนไปอีกอย่าง ไม่รู้กินอะไรกัน หรือไปกินอาหารอะไรที่ทำให้ความสุข ซึ่งตัวดิฉันไม่เคยเปลี่ยน ยืนยันว่า พูดอย่างไรทำอย่างนั้นจากวันแรกที่เข้ามา ทั้งนี้ กรณีข้อโต้แย้งต่างๆ ดิฉันสงสัยเหมือนกัน มีระยะเวลาก่อนการประชุมในแต่ครั้ง นานพอที่แต่ละฝ่าย หยิบยกประเด็นมาหารือกันได้ แต่ปรากฏว่ามักจะยกเพื่อให้เป็นประเด็นขึ้นมาก่อนประชุมเพียงไม่กี่วันแบบฉุกละหุก ซึ่งมันไม่ยุติธรรม” น.ส.มนัญญา กล่าว
ด้าน นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ ที่ปรึกษา รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะเป็นการประชุมเพื่อรับรองมติวันที่ 27 พ.ย. 62 ที่ให้แบน 2 สาร พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 63 และจำกัดการใช้สารไกลโฟรเซต ซึ่งเท่าที่อ่านหนังสือเวียนแจ้งมติที่ประชุม พบว่า ทั้งหมดเป็นข้อเสนอของ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพียงคนเดียวโดยไม่มีข้อเสนอของหน่วยงานอื่น ซึ่ง นายอนันต์ ได้หยิบเอาประเด็นสต๊อก 3 สารของเอกชน ที่ยังค้างอยู่เกือบ 3 หมื่นตัน หากต้องกำจัดจะใช้งบกว่าพันล้านบาทและเสี่ยงการถูกฟ้องร้อง ดังนั้น ต้องรอดูว่าในการประชุมครั้งนี้ จะมีมติอย่างไร ใครยกมือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มิฉะนั้น จะต้องกลับไปใช้มติวันที่ 22 ต.ค. 62 ที่มีมติเอกฉันท์ให้แบน 3 สาร ที่มีผลเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 62