สมาคมเกษตรกรปลอดภัย ยื่นฟ้องศาลปกครองขอเพิกถอนประกาศแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” 1 มิ.ย.นี้ ชี้ทำเกษตรกรผู้ปลูก 6 พืชไร่ 1.6 ล้านครอบครัวเดือดร้อน เหตุรัฐยังไร้สารทดแทนที่มีประสิทธิภาพกว่า พร้อมขอไต่สวนฉุกเฉินระงับไว้จนกว่าศาลพิจารณาคดีจบ
วันนี้ (27 พ.ค.) สมาคมเกษตรกรปลอดภัย โดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณ นายกสมาคมฯ นำรายชื่อ 8 เกษตรกร ประกอบด้วย นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคะตะวันออกเฉียงเหนือ, นายสมบัติ ศรีจันทร์รัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรมันแปลงใหญ่, นายมนัส พุทธรัตน์ นายกสมาคมชาวสวนปาล์ม, นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย, นายอมร โกศลรัตนพร สมาชิกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย เขต 7, นายบุญเหลียน ผาสุก เกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลังและอ้อย, นายนิวัติ ปากวิเศษ ประธานสหกรณ์ผู้ปลูกมะนาวบ้านแพ้ว ดำเนินสะดวก จำกัด พร้อมด้วยนายอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้ายื่นคำฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม รมว.อุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย และกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชนิดของวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งได้มีการลงนามประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 63 และจะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 63 และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยสั่งระงับการบังคับใช้ตามประกาศดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดี
นายสุกรรณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรไม่ได้มีการหาสารทดแทนหรือวิธีการอื่นที่จะมาให้เกษตรกรใช้แทนสารเคมี 3 ชนิดตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติก่อนหน้านี้ แต่กลับมีการประกาศดังกล่าวและจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ หากการฝ่าฝืนกฎหมายกำหนดโทษไว้รุนแรงยิ่งกว่าค้าเฮโรอีน หรือฆ่าคนตายคือจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งเมื่อวานที่ผ่านมา (26 พ.ค.) กรมวิชาการเกษตรก็ได้มีการออกประกาศเพิ่มเติม ห้ามครอบครอง 2 สารเคมี โดยเกษตรกรที่ยังมีสารสารเคมีเหลืออยู่ในครอบครองจะต้องนำส่งคืนร้านค้าภายใน 90 วันนับแต่วันที่ 1 มิ.ย. สะท้อนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดละเลย ละเว้นการปฏิบัติตามมติ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนที่เกษตรกรกำลังจะเพาะปลูก และมีความจำเป็นจะต้องใช้พาราควอตในการกำจัดศัตรูพืช เมื่อมีการยกเลิกโดยไม่มีสารเคมีอื่นหรือวิธีการอื่นทดแทนก็จะทำให้เกษตรกรเกิดความเดือดร้อน
“สารกลูโฟซิเนท ที่เอ็นจีโอแนะนำให้ใช้ เดิมราคาลิตรละ 480 ปัจจุบันลดเหลือ 200 แต่เกษตรกรก็ไม่ใช้ เพราะราคายังแพงอยู่ ประสิทธิภาพก็ด้อยกว่า 1 ลิตรใช้ได้ไร่เดียว ขณะที่พาราควอต ลิตรละ 120-170 บาท ใช้ได้ 2 ไร่ครึ่ง และประสิทธิภาพดีกว่า โดยพืชไร่ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ยาง ผลไม้ ข้าวโพด ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชอื่นทดแทนไม่ได้นอกจากพาราควอต ที่บอกว่าให้ใช้นวัตกรรมปลูกพืชคลุมดิน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ในการปลูกพืชที่ใช้พื้นที่เป็นล้านๆ ไร่ การจะให้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ากำจัดก็ทำได้ลำบากเพราะพื้นที่ไร่จะมีร่อง มีแอ่ง หรือใช้วิธีการถางหญ้าก็มีต้นทุนสูง อย่างอ้อย ข้าวโพด หากใช้พาราควอตจะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่แค่ไร่ละ 100 บาท แต่หากใช้การถางหญ้า ค่าแรงอยู่ที่ไร่ละ 2-4 พันบาท ดังนั้น ประกาศห้ามดังกล่าวจะทำให้เกษตรกร 1.6 ล้านครอบครัวที่ปลูกพืชไร่ 6 ประเภทนี้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”