เมืองไทย 360 องศา
มีความเห็นออกมาหลายแง่มุมสำหรับการแตกตัวออกมาของบรรดาแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน โดยในเบื้องต้นแยกออกมาตั้งกลุ่มการเมืองในชื่อ “กลุ่มแคร์” ก่อนที่จะขยายออกไปเป็นพรรคการเมืองในภายหลัง
สำหรับบรรดาแกนนำที่ออกมา ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ นายพงศ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล เป็นต้น
แน่นอนว่า เมื่อได้เห็นรายชื่อทั้งหมดหลายคนก็มองตรงกันว่าพวกเขาล้วนเป็นคนที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับ ทักษิณ ชินวัตร รวมไปถึงคนในครอบครัวนั้นด้วย ทำให้คาดเดากันไปหลายแง่มุม เช่น อาจมองว่าเป็นการแตกตัวออกมาตามยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์ย่อย” ออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่แต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือการเลือกตั้งในอนาคต หลังจากก่อนหน้านี้เคย “ผิดพลาด” มาจากการตั้งพรรคไทยรักษาชาติ ที่ “คิดการใหญ่เกินตัว”
ขณะเดียวกัน ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ต้องการปิดช่องโหว่ในเรื่องของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เหมือนกับที่เคยประสบมาเมื่อการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ที่แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ระบบเขตเข้ามามากที่สุด แต่ด้วยระบบการคำนวณคะแนนแบบใหม่ และการเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พวกเขาก็ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อสักคนเดียว ส่งผลให้บรรดาแกนนำระดับหัวแถวของพรรคไม่ได้เป็น ส.ส.แบบยกพรรคกันเลยทีเดียว
ดังนั้น การแตกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่คราวนี้ จึงถูกมองว่าเป็นการ “ปิดจุดอ่อน” เพื่อต้องการรักษาทุกคะแนนเสียงเอาไว้ในพรรคเครือข่ายที่มี ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งยังเป็นการ “เอาตัวรอด” ของบรรดาแกนนำพรรคเหล่านี้ เนื่องจากหากพิจารณาจากแบ็กกราวนด์แต่ละคนล้วนไม่ใช่มาจาก ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่เป็นอดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในโควตา “คนไว้ใจแบบเด็กในบ้าน” ดังนั้น การตั้งพรรคใหม่ของพวกเขาจึงถูกมองว่าเป็นการ “หาคะแนนเสียง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ” เหมือนกับที่เคยวางแผนเอาไว้กับพรรคไทยรักษาชาติ
อย่างไรก็ดี มันก็ช่วยไม่ได้ที่พรรคการเมืองใหม่ของคนกลุ่มนี้ จะมีผลกระทบ “เต็มๆ” กับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกับบรรดาแกนนำพรรคที่เป็นผู้บริหารพรรคในปัจจุบัน ทั้งในด้านของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และความหวั่นไหวในการวางตัวผู้สมัครของพรรคในแบบเขตในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคต จะมี ส.ส.และ สมาชิกย้ายพรรคมาอยู่พรรคใหม่ ส่วนจะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ค่อยมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง
แต่นาทีนี้ ย่อมส่งผลกระทบแน่นอนและอย่าได้แปลกใจที่จะมี “เสียงด่าไล่หลัง” ออกมาจากคนในพรรคเพื่อไทย ทั้งในกลุ่มของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค และกลุ่มของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคในปัจจุบัน ที่โวยวายกล่าวหาถึงขั้นที่ว่า “เผาบ้านก่อนหลบหนีไป” ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวที่น้อยครั้งจะได้เห็น ก็คือ การ “จับมือ” ของทั้งสองขั้วดังกล่าวในแบบสงวนจุดต่างแสวงจุดร่วม
นอกเหนือจากนี้ ที่น่าจับตาก็คือ การแยกตัวมาตั้งพรรคใหม่ หากมองในทางยุทธศาสตร์ทางการเมืองมันก็เหมือนกับการ “ตรึงมวลชน” เอาไว้ เพราะหากพิจารณาจากสภาพทางการเมืองในเวลานี้ ก็ต้องยอมรับว่า บทบาทของพรรคเพื่อไทยในช่วงที่ผ่านมามีสภาพ “ถดถอย” มาโดยตลอด กลายเป็นว่า “บทบาทนำ” กลายเป็นของพรรคอนาคตใหม่ในยุคของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จนมาถึงเวอร์ชันใหม่ในนามพรรคก้าวไกล ที่แม้ว่าจะลดความแหลมคมลงไป หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และแกนนำพรรคถูกตัดสิทธิ์การเมืองเป็นเวลา 10 ปี
แต่ถึงอย่างไร ก็ยังมีบทบาทโดยเฉพาะการครองใจของคนรุ่นใหม่ อีกทั้งสามารถ “แย่งมวลชน” ที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในอดีตออกไปแบบถาวร หากมองกันในแง่แบบนี้ หากปล่อยให้สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่ถูกมองว่าไร้แรงกระตุ้น ไม่อาจ “สร้างความหวัง” ได้ดีพอ เหมือนกับที่พูดกันไว้ ยิ่งนานก็ยิ่งถดถอยลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น การมีพรรคในเครือข่ายแบบสายตรงอย่างน้อยก็คงทำให้มวลชนละล้าละลังคงไม่ตัดใจ “เท” ออกไปทั้งหมด อย่างน้อยก็น่าจะเหลือเยื่อใยในอดีตเอาไว้บ้าง
นอกเหนือจากนี้ หากพิจารณาในภาพรวมภายในพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ ถือว่า นายทักษิณ ชินวัตร ปล่อยมือโดยสิ้นเชิงแล้ว เนื่องจากยังมองไม่เห็นว่าในอนาคตอันใกล้พวกเขาจะได้อำนาจรัฐกลับมาผ่านทางการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อคู่ต่อสู้ยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้รับรู้กันว่า “ท่อน้ำเลี้ยง” ไม่ไหลมานานนับปีแล้ว เราจึงเห็นภาพการย้ายพรรคแบบกระสานซ่านเซ็นในหลายรูปแบบ และรู้จักกันในแบบ “งูเห่า”
ดังนั้น การเปิดตัวของกลุ่มการเมือง ในชื่อ “กลุ่มแคร์” ก่อนจะกลายเป็นพรรคการเมืองใหม่ในอนาคต ก็ถูกมองไม่ต่างจากพวก “หน้าเก่า” ไม่ใช่บุคคลในสถานการณ์ใหม่แต่อย่างใด ภาพที่ออกมาจึงไม่สะท้อนความรู้สึกในแบบยังกระตุ้นให้เลือดลมพลุ่งพล่านไม่ได้ หลายคนยังรู้สึกเฉยๆ แต่สำหรับพวกเขาแล้วถือว่ามันจำเป็นที่ต้องเคลื่อนไหวแบบนี้ เพราะไม่ต่างจากการเอาตัวรอด อย่างน้อยก็ต้องตรึงมวลชนเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ดีกว่าปล่อยให้ “มิตรที่เป็นคู่แข่ง” แย่งเอาไว้
แบบที่ไม่ต้องลงทุน ไม่ใช่หรือ !!