ข่าวปนคน คนปนข่าว
** “กัปตันลุงตู่” เดินเกมเร็ว ชิงจังหวะยื่นขอฟื้นฟูกิจการการบินไทยต่อศาลล้มละลายกลาง จัด 4 อะเวนเจอร์ ทำแผนวัดใจเจ้าหนี้
เมื่อวันจันทร์ (25 พ.ค.) การบินไทย เพิ่งจะแต่งตั้งกรรมการใหม่ 4 คน ให้เข้ามาทำหน้าที่ ประกอบไปด้วย “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - บุญทักษ์ หวังเจริญ- ไพรินทร์ ชูโชติถาวร และ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์”
ว่ากันว่า 4 คนนี้คือ “ทีมลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สายตรงส่งลงมา ที่ต้องบอกว่าตอนนี้มีบทบาทอย่างสูงที่จะผลต่อความคงอยู่หรือแปรเปลี่ยนไปของสายการบินแห่งชาติ “การบินไทย”
เมื่อ “ลุงตู่” ตัดสินใจสวมบท “กัปตันลุงตู่” เต็มตัว ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนตัวกรรมการเสร็จปุ๊บก็เดินเกมเร็ว จัดเอกสารกว่า 1 คันรถ ให้ผู้บริหารการบินไทยยื่นขอฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลางทันที
แล้วก็เป็นไปตามคาด “ทีมอะเวนเจอร์ 4 คน” ที่เพิ่งตั้งกันนั้น มีชื่อเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู โดยในรายชื่อของผู้ทำแผนที่เสนอต่อศาลประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ บริษัท จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการ) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, บุญทักษ์ หวังเจริญ, ไพรินทร์ ชูโชติถาวร และ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และอีก 1 นิติบุคคลคือ บริษัท อีวาย
ขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวนั้นสืบกันว่า มีสำนักงานกฎหมายชื่อดังระดับโลก เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย
ฟังว่า ภายในวันนี้ (27 พ.ค.) ศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาข้อมูลจากเอกสารที่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ จากนั้นจะมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องของการบินไทยหรือไม่
จะอย่างไรก็ดี การยื่นขอเข้าฟื้นฟูกิจการของการบินไทยครั้งนี้ถือเป็นเรื่องของ “ผู้ทำแผน” ฝ่ายลูกหนี้ ที่หากว่าหลังจากศาลอนุมัติคำร้อง การบินไทยก็จะแจ้งเจ้าหนี้มาประชุมว่าจะเห็นชอบผู้ทำแผนที่ฝ่ายลูกหนี้เสนอหรือไม่ หากที่ประชุมเจ้าหนี้เห็นชอบกับรายชื่อผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ ที่ประชุมเจ้าหนี้ต้องเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบรายชื่อผู้ทำแผนที่ฝ่ายลูกหนี้เสนอ และต้องการเสนอผู้ทำแผนแข่ง ต้องใช้เสียงของที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
ขณะที่ความเคลื่อนไหวอีกด้าน... ที่ทำเนียบรัฐบาล ข่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้พูดถึงรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย แต่อย่างใด มีเพียง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ที่ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม. ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมี “มินิบอร์ด” หรือที่รองฯ วิษณุบอกเป็นแค่ “บอร์ดกระจอก” คณะกรรมการติดตามดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงการดำเนินการระหว่าง ครม. กับการบินไทย
แม้ขั้นตอนการฟื้นการบินไทยจะยังต้องว่ากันไปอีกหลายยก ที่ “กัปตันลุงตู่” เดินเกมเร็ววันนี้ ก็มีเสียงตอบรับว่าดี มีประโยชน์ อย่างน้อยเพื่อสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นในเชิงความเชื่อมั่น และถือโอกาสชิงจังหวะเจ้าหนี้ไปด้วย
แว่วว่า ก่อนที้ศาลจะพิจารณาเพื่อความมั่นใจขึ้นไปอีกขั้น "กัปตันลุงตู่" ได้กำชับให้บริษัทเดินสายเจรจาเจ้าหนี้ โดยชู “4 อะเวนเจอร์” ที่เป็นมือดีในแต่ละด้าน ทั้งกฎหมาย พลังงาน นักเทคโนโลยี และนายแบงก์ ให้เจ้าหนี้ยอมรับในฐานะ “ผู้ทำแผน” ให้ได้ ป้องกันเสียงคัดค้านที่อาจจะทำให้เกมสะดุด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นั่นก็ต้องลุ้นกันว่า วันนี้ศาลจะพิจารณาอย่างไรต่อคำร้องขอทำแผนฟื้นฟูของการบินไทยกันก่อน
ขั้นตอนต่อไปค่อยว่ากัน โดยเฉพาะ “แผนฟื้นฟู” จริงๆ จะออกมา ซึ่งจะเป็นตัวชี้ชะตาการบินไทยของจริง และวัดใจเจ้าหนี้ด้วยว่า จะเอาด้วยมั้ย
เส้นทางบินของการบินไทยไฟลต์นี้ยังอีกยาวไกล โปรดนั่งรัดเข็มขัดอยู่กับที่ ดูฝีมือ “กัปตันลุงตู่” กันต่อไป.
** เลือกตั้งซ่อมลำปาง เพื่อไทยเจอ “ลูกเก๋า” ของพินิจ จันทรสุรินทร์ จนสุดท้ายไม่ได้ส่งผู้สมัคร งานนี้คนของพลังประชารัฐ ตัดชุดรอได้เลย
ปิดรับสมัครไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 4 ลำปาง แทน “อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์” ส.ส.เพื่อไทย ที่เสียชีวิต ปรากฏว่า มีผู้สมัครทั้งสิ้น 5 คน เบอร์ 1 นายวัฒนา สิทธิวัง พรรคพลังประชารัฐ, เบอร์ 2 ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ พรรคเสรีรวมไทย, เบอร์ 3 นายอำพล คำศรีวรรณ พรรคพลังท้องถิ่นไท , เบอร์ 4 นายองอาจ สินอนันต์เศษฐ์ พรรคไทรักธรรม และเบอร์ 5 น.ส.ปทิตตา ชัยมูลชื่น พรรคเศรษฐกิจใหม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า ใน 5 คนนี้มีตัวแทนจากฝ่ายค้านเพียงคนเดียว คือ ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ จากพรรคเสรีรวมไทย... แล้วตัวแทนจากพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือว่าเป็นพรรคใหญ่ในฝั่งนี้หายไปไหน ทำไม่ไม่ลงสนาม ...
ในส่วนของพรรคก้าวไกลนั้น พอเข้าใจได้ว่าติดขัดที่ข้อกฎหมาย เพราะหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ก็ไปตั้งพรรคก้าวไกล สมาชิกพรรคจึงยังไม่มีใครสังกัดพรรคเกิน 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งการส่งผู้สมัครเลือกตั้งนั้น พรรรคต้องมีคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ ต้องมาจากการประชุมใหญ่ของพรรค แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมและเลือกคณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้ได้
แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม ทำไมไม่ส่งผู้สมัครนั้น .. เรื่องนี้มีที่มาที่ไป
เมื่อ ส.ส.อิทธิรัตน์เสียชีวิต ทางพรรคเพื่อไทยก็ได้วางตัว “พินิจ จันทรสุรินทร์” ผู้เป็นพ่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งแทนเพื่อรักษาพื้นที่ ซึ่ง “พินิจ” บอกว่าจะรอสมัครในวันสุดท้าย แต่รอจนถึงบ่ายก็ยังไม่มา จนกระทั่งเวลา 16.30 น. หมดเวลารับสมัครก็ยังไม่มา
“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แต่ออกมาชี้แจงว่าเป็นเพราะเจ้าตัวยังคงโศกเศร้าเสียใจ ยังทำใจเรื่องการสูญเสียลูกชายยังไม่ได้ และประเมินว่ารัฐบาลไปต่อลำบาก อายุสภาฯคงเหลือไม่มาก อีกทั้ง “พินิจ” ตั้งใจจะลงสมัครนายก อบจ. คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงตัดสินใจขอเว้นวรรคการเลือกตั้งในครั้งนี้ไปก่อน
ว่ากันว่า เบื้องลึกของเรื่องนี้เริ่มมาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. 62 ที่ผ่านมา ซึ่ง “ผู้กองธรรมนัส” เป็นแม่ทัพภาคเหนือของพรรคพลังประชารัฐ ได้ต่อสายประสานกับ “พินิจ” ขอให้ลูกชายทั้งสองคน คือ “จรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์” ส.ส.เขต 3 และ “อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์” ส.ส.เขต 4 ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ผลการเจรจาข่าวว่า “พินิจ” มองทิศทางการเมืองแล้วก็มีทีท่าคล้อยตาม แต่ลูกชายทั้งสองคนไม่คล้อยตามด้วย จึงยังสังกัดพรรคเพื่อไทยตามเดิม
เมื่อ “อิทธิรัตน์” เสียชีวิต พรรคเพื่อไทยจึงตัดสินใจให้ “พินิจ” ลงรักษาเก้าอี้ของลูกชาย ... ถามว่าพรรคเพื่อไทยไม่ระแคะระคายบ้างหรือว่า “พินิจ” ได้ปันใจไปให้พลังประชารัฐแล้ว... คำตอบคือ “น่าจะรู้” แต่ก็ทำเป็นหลับตาข้างหนึ่ง เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่า สภาพภายในพรรคเพื่อไทยก็มีหลายก๊กหลายก๊วน ไร้ความเป็นเอกภาพ ...ที่สำคัญคือใครจะเป็น “เจ้าภาพ” ดูแลค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดที่ขอนแก่น จนป่านนี้ยังเคลียร์บัญชีกันไม่ลง...ในที่สุดจึงตัดสินใจให้ “พินิจ” ลงสนาม เพราะคิดว่าน่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาจากทางพรรค
“พินิจ จันทรสุรินทร์” ลงเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 2518 ได้เป็น ส.ส.ลำปาง ในนามพรรคธรรมสังคม ต่อมาปี 2519 สอบตก และได้กลับมาเป็น ส.ส.อีกครั้ง ในปี 2522 สังกัดพรรคชาติประชาชน และย้ายมาสังกัดพรรคกิจสังคม ในปี 2526 จากนั้นจนถึงปี 2548 ก็ไม่เคยสอบตกเลย ตำแหน่งรัฐมนตรีก็เคยเป็น รมช.มหาดไทย และ รมว.เกษตรฯ ต่อมาปี 2544 มาเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” ก็ได้รับเลือกตั้งอีก 2 สมัย กระทั่งพรรคไทยรักไทยถูกยุบ เลยถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปอยู่ “บ้านเลขที่ 111” พราะเป็นกรรมการบริหารพรรค จึงส่งลูกชายทั้งสองคนลงเป็นตัวแทนสืบทอด
ถึงวันนี้ “พินิจ” ยังไม่คิดหันหลังให้การเมือง แต่จะขออยู่ในระดับท้องถิ่น คือลงสมัครนายก อบจ.ลำปาง และเชื่อว่าช่วงนี้ก็ยังคงต่อสายกับ “ผู้กองธรรมนัส” จึงเล่นเกมถ่วงเวลารับสมัครไปถึงนาทีสุดท้าย จนพรรคเพื่อไทยแก้เกมไม่ทัน ต้องจำยอมเสียเก้าอี้ตัวนี้ไป
เลือกตั้งซ่อมลำปางครั้งนี้ เก้าอี้ ส.ส.จึงน่าจะตกเป็นของ “วัฒนา สิทธิวัง” จากพรรคพลังประชารัฐ แบบตัดชุดรอได้เลย!