โฆษก ศบค.แถลงพบป่วย 3 ราย อยู่ในสถานกักกันทั้งหมด ขณะที่ความร่วมมือ ปชช.หย่อนลงทุกด้านหลังผ่อนปรน ยอมรับ คกก.ด้านกฎหมาย กำลังศึกษา กม.ทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จ่อขยายรับคนไทยกลับประเทศเพิ่มวันละ 300 คน
วันนี้ (17 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,028 ราย หายป่วยสะสม 2,856 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 56 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 116 ราย ในส่วนผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย มาจากสถานกักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด และเป็นเพศชายทั้งหมด โดย 1 ราย เป็นนักศึกษา อายุ 23 ปี กลับมาจากปากีสถานเมื่อวันที่ 7 พ.ค.อีก 2 ราย เป็นนักศึกษาอายุ 21 ปี และ 23 ปี กลับมาจากอียิปต์เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งก่อนเดินทางได้มีการตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูกมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่พบเชื้อ แต่มาตรวจพบเชื้อที่ประเทศไทย โดยระยะฟักตัวจากวันที่เดินทางมาถึงไทย อยู่ที่ 9-10 วัน ยืนยันว่าเราจะดูแลอย่างเต็มที่ ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยใน 2 สัปดาห์ล่าสุดมาจากศูนย์ผู้ต้องกักมากที่สุด รองลงมาคือจากการค้นหาเชิงรุก
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก มี 4,720,196 ราย เสียชีวิต 313,220 ราย คิดเป็น 6.6% ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศที่น่าสนใจ พบว่าจำนวนเด็กป่วยที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับภูมิต้านทานที่มีความเชื่อมโยงกับโควิด-19 เพิ่มขึ้นในเวลาไม่กี่สัปดาห์ มีอย่างน้อย 5 รายเสียชีวิตจากอาการดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบจะเกี่ยวพันกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อาการบางอย่างคล้ายกับโรคคาวาซาจิ และท็อกซิกช็อกซึ่งโควิด-19 เป็นโรคที่เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ 5 เดือน เราจึงต้องเรียนรู้ แต่เดิมเด็กไม่ค่อยมีอาการป่วย แต่ตอนนี้อาการหนักและถึงขั้นเสียชีวิต จึงต้องรีบศึกษา วิเคราะห์ วิจัยกัน เพราะเด็กและผู้สูงอายุคือกลุ่มเสี่ยง เราต้องเรียนรู้จากต่างประเทศเพื่อปกป้องคนสองกลุ่มคนนี้ให้ปลอดภัย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการศึกษาร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยต่างๆ และ สปสช. เพื่อสำรวจพฤติกรรมประชาชนหลังจากมีมาตรการผ่อนปรน โดยเทียบระหว่างช่วงวันที่ 23-30 เม.ย.กับ 14-18 พ.ค. พบว่า ตัวเลขความร่วมมือต่ำลงทั้งสิ้น โดยพฤติกรรมโดยรวมลดลงจาก 77.6% เหลือ 72.5% สวมหน้ากากอนามัย จาก 91.2% เหลือ 91% ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ จาก 87.2% เหลือ 83.4% กินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง จาก 86.1% เหลือ 82.3% ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร จาก 65.3% เหลือ 60.7% และการไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก จาก 62.9% เหลือ 52.9% ขณะที่ผลการตรวจกิจการ/กิจกรรมประจำวันที่ 16 พ.ค. ตรวจไปทั้งสิ้น 20,204 กิจการ/กิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการ 20,153 กิจการ/กิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ไม่ครบ 51 กิจการ/กิจกรรม ไม่พบการกิจการ/กิจกรรมที่ไม่ปฏิบัติตาม
เมื่อถามว่า สำหรับแพลตฟอร์มไทยชนะ รัฐบาลบังคับให้ทุกคนต้องลงทะเบียนใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการบังคับแต่อย่างใด แต่เป็นการขอความร่วมมือ เพราะดีต่อสุขภาพท่านเอง เพื่อทำให้ได้รับทราบความแออัดและหนาแน่นของผู้ใช้บริการ ดีต่อผู้ที่เปิดกิจการด้วย เพราะไม่รู้ว่าลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของการนำเชื้อมาด้วยหรือไม่ และยังดีต่อการตรวจสอบมาตรการ ถือว่าดีต่อทุกส่วน การลงทะเบียนไม่ได้ยุ่งยากอะไร โดยวันที่ 17 พ.ค. มีร้านค้าลงทะเบียนไปแล้ว 11,599 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. รองลงมาคือ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา เป็นจังหวัดใหญ่ๆ ทั้งสิ้น ข้อดีอีกอย่างของการลงทะเบียนคือ หากท่านไปติดโรคมา หรือมีข่าวว่าเกิดการติดเชื้อในสถานที่นั้นๆ แทนที่เราจะไปกวาดคนทั้งร้อยคนมาตรวจ ระบบตรงนี้จะทำให้เราสามารถจำกัดคนได้ ไม่ต้องไปหว่านแหตรวจ
เมื่อถามว่า หากการผ่อนปรนในระยะที่ 2 ดีขึ้นจะมีการพิจารณาไม่ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ แทนได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ผอ.ศบค.ได้มอบให้คณะกรรมการด้านกฎหมายไปศึกษา ถ้าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีการนำเสนอขึ้นมา การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ผ่านมาเป็นการรวบรวมกฎหมายต่างๆ ให้มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้เกิดมาตรการดูแลสังคมในสถานการณ์โรคที่รุนแรง แต่ตอนนี้ในประเทศเราควบคุมโรคได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่ยังมีประเด็น เช่น ขณะนี้เราห้ามเครื่องบินเข้าถึง 30 มิ.ย. ถ้าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะใช้สามารถประมวลกฎหมายตัวใดมาแทน ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายหลายด้านประกอบกันเพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้าประเทศและการควบคุมเชื้อให้อยู่ในการดูแลได้ทั้งหมด ตรงนี้จึงมีความจำเป็น ถ้าจะยกเลิกแต่สถานการณ์ของโลกยังมีการติดเชื้ออยู่จำนวนมาก เราต้องดูกันอย่างลึกซึ้งและใช้เวลาพอสมควร ถ้าไทยดีขึ้น ทั่วโลกดีขึ้นก็ไม่มีความจำเป็น แต่สถานการณ์โลกยังมีการระบาดจึงยังมีความจำเป็น ซึ่งคณะกรรมการด้านกฎหมายจะต้องไปศึกษามาว่ามีกฎหมายอะไรทดแทนได้ เพื่อสรุปความเห็นนำเสนอต่อ ผอ.ศบค.ต่อไป
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่จะขยายจำนวนการรับคนไทยจากต่างประเทศเข้ามาในแต่ละวันหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.สัปดาห์ก่อนได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้และให้ความสำคัญ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ไม่ดีนัก และคนไทยมีสิทธิที่จะกลับประเทศ ดังนั้น เราต้องทำงานกันอย่างหนัก โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ระบุว่าสามารถรองรับได้ จากที่กำหนดไว้ 200 คนต่อวัน อาจขยับมา 300 ต่อวัน และต่อไปน่าจะขยับไป 400 ต่อวัน