xs
xsm
sm
md
lg

เผย 10 จังหวัดลงทะเบียน “ไทยชนะ” มากสุด คนใช้แล้ว 1.5 แสนคน เช็กอิน 4.6 พันคนต่อนาที แนะข้อควรระวังร้านค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลงทะเบียนไทยชนะแล้ว 26,736 ร้าน มีผู้ใช้งานระบบแล้ว 1.5 แสนคน สแกนคิวอาร์โค้ด 4,635 คนต่อนาที เผย 5 จังหวัดลงทะเบียนมากสุด กทม.3,420 ร้าน ตามด้วยชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี เตือนข้อควรระวังร้านค้าลงทะเบียน ย้ำตอบกลับทางอีเมลเท่านั้น ไม่มีโทรศัพท์หา หากมีอาจเป็นมิจฉาชีพ

วันนี้ (17 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงความจำเป็นในการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ รัฐบาลบังคับให้ต้องใช้ทุกคนหรือไม่ ว่าไม่ได้เป็นการบังคับ เป็นการขอความร่วมมือที่จะดีต่อสุขภาพตัวเองและรับทราบความแออัดหนาแน่นของผู้ใช้บริการ และดีต่อผู้เปิดกิจการ เพราะไม่รู้ว่าลูกค้าเราเป็นส่วนหนึ่งการนำเชื้อมาหาเราหรือไม่ และดีต่อส่วนที่จะเข้าไปตรวจสอบมาตรการต่างๆ เป็นเรื่องขอความร่วมมือ และไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วง 06.00 น.ของวันที่ 17 พ.ค.ที่มีการเปิดให้ลงทะเบียนในแพลตฟอร์มไทยชนะ มีผู้ประกอบการลงทะเบียนแล้ว 11,599 ร้านค้า โดย 10 อันดับแรกที่ลงทะเบียน คือ 1. กทม. 3,420 ร้าน 2. ชลบุรี 877 ร้าน 3. นนทบุรี 611 ร้าน 4. สมุทรปราการ 545 ร้าน 5. ปทุมธานี 423 ร้าน 6.เชียงใหม่ 381 ร้าน 7.สุราษฎร์ธานี 357 ร้าน 8. นครราชสีมา 311 ร้าน 9. ขอนแก่น 248 ร้าน และ 10. สงขลา 219 ร้าน ถือเป็นจังหวัดใหญ่ทั้งสิ้น แต่เชื่อว่าจังหวัดเล็กก็ลงทะเบียนช่วยกันอยู่ เพื่อที่ท่านเองเข้าไปในแพลตฟอร์มแล้ว หากเข้าไปก็สามารถดูได้ว่ามีคนเข้าไปใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ประชาชนไม่ต้องแสดงตัวอะไร ยกเว้นเข้าไปที่ร้านก็เอากล้องมาถ่ายเช็กอินจากคิวอาร์โค้ด พอออกมาก็สแกนออก

“ข้อดีคือ ถ้าเกิดไปติดเชื้อหรือมีข่าวว่าติดเชื้อตรงนั้นตรงนี้ แทนที่จะกวดคนเป็นร้อยมาสอบสวน ระบบนี้จะช่วยจำกัดคนเฉพาะกลุ่มเสี่ยง จะประสานให้เข้ามาตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภาครัฐก็ไม่ต้องเสียงบประมาณตรวจแบบหว่านแหจำนวนมาก และไม่ได้เป็นกรโหลดแอปพลิเคชันทั้งหลาย เพราะเป็นเพียงแพลตฟอร์มเข้าไปในเว็บไซต์ ซึ่งต่อไปอาจมีแอปฯ ต่างๆ ให้ท่านสะดวกใช้ โดยผู้ประกอบการก็เข้าไปลงทะเบียน ผู้ใช้บริการก็ใช้กล้องหรือแอปฯ ที่อ่านคิวอาร์โค้ดก็ใช้ได้แล้ว” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนไลน์บังคับต้องลงไหมเกี่ยวกับไทยชนะ ตอนนี้เราจัดทำอีกช่องทางขึ้นมา คือตอนแรกมีโทร.1119 เพื่อให้เจ้าของกิจการ ประชาชนที่สงสัยโทร.สอบถามได้ ส่วนไลน์ไทยชนะก็ใช้ได้เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการสื่อสาร ไม่ใช่ไลน์ในการใช้เข้าร้านลงทะเบียน แต่ใช้ในการตอบคำถาม

ถามถึงข้อแตกต่างระหว่างไทยชนะกับหมอชนะ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หมอชนะเป็นแอปพลิเคชันไว้ดูความเสี่ยงบุคคล เข้าไปกรอกตอบแบบสอบถามและแสดงตน เป็นแอปพลิเคชันเพื่อรับทราบความเสี่ยงอะไรอย่างไร ถ้าเปิดบลูธูทก็บอกได้เราไปสถานที่เสี่ยงแค่ไหน ตรงนั้นก็เป็นระบบหนึ่ง แต่ไทยชนะจะเป็นระบบใหญ่ อาจจะมีหมอชนะ และมีอื่นๆ ตามมาอยู่ในฐานใหญ่ไทยชนะอีกทีหนึ่ง

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มต้นแพลตฟอร์มไทยชนะ มีผู้ลงทะเบียนแล้วเมื่อเวลา 11.30 น. จำนวน 26,736 ร้านค้า มีผู้เช็กเอาต์จากระบบคือใช้งานแล้วกับระบบนี้ประมาณ 2 ชั่วโมงอยู่ที่ 155,486 คน เช็กอินตอนนี้ทุกนาทีสแกนคิวอาร์โค้ด 4,635 คนต่อนาที ถือเป็นความร่วมใจของประชาชนในการใช้แพลตฟอร์ม

นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า สำหรับหน้าจอไทยชนะจะมี 3 เมนูสำคัญ คือ 1. การค้นหาร้านค้า 2. ลงทะเบียนร้านค้าใหม่ 3. จัดการข้อมูลร้านค้า ขั้นตอนการลงทะเบียนมีไม่กี่ขั้นตอน ที่สำคัญคือ ชื่อนามสกุลผู้ติดต่อในระบบ ไม่ต้องระบุคำนำหน้า ในทางระบบไอที มองตัวสะเอสระแอแตกต่างกัน ถ้าชื่อ แก้ว เกิดจากสระแอกดคีย์บอร์ดสระแอ ไม่กดสระเอสองครั้ง มิเช่นนั้นจะค้นหาไม่เจอ บัตรประชาชนต้องใส่ตัวเลข 13 หลักให้ครบ และไฮไลต์คือหลังบัตรประชาชนจะมีตัวเลขด้านหลัง โดย 2 หลักแรกเป็นภาษาอังกฤษที่เหลือเป็นตัวเลข มีปัญหาคือ O กับ 0 ย้ำว่า 2 ตัวเลขเป็นพยัญชนะ ด้านหลังเป็นตัวเลข และต้องใส่เบอร์โทรศัพท์และอีเมล เพื่อทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบ ส่งอีเมลกลับว่าร้านค้าลงทะเบียนถูกต้องเท่านั้น ผ่านการยืนยันตัวตนจากกระทรวงมหาดไทย จะไม่มีใครโทร.กลับไปบอก หากมีให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ

“อีเมลจะตอบกลับใน 24 ชั่วโมง ต้องตรวจสอบว่าลงทะเบียนผิดพลาดหรือไม่ เพราะหากลงทะเบียนผิดพลาด คิวอาร์โคดที่แปะไปแล้วอีกวันจะใช้ไม่ได้ ถ้าตอบกลับถูกว่าลงทะเบียนถูกต้องคิวอาร์โคดจะใช้ได้ทุกวัน ถ้าลงทะเบียนผิดก็เข้าไปแก้ไขตามคู่มือที่เปิดให้ดาวน์โหลด ก็จะได้คิวอาร์โค้ดที่ถูกต้องแล้วไปแปะใหม่ก็ใช้ได้เหมือนเดิม” นพ.พลวรรธน์กล่าว

นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า สำหรับคนทั่วไปเมื่อกดเข้าไปในค้นหาร้านค้า จะเห็นว่ามีร้านค้าไหนบ้าง ซึ่งจะมาจากผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าระบบ และจะเห็นความหนาแน่นของร้านว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ และจะเห็นโลเกชัน เห็นความจุสูงสุด มีที่ให้ไปเท่าไร เมื่อไปถึงที่บริการก็เอาโทรศัพท์มือถือไปส่องอ่านคิวอาร์โค้ด หากเป็นครั้งแรกในการใช้จะต้องกรอกเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะกรอกเพียงครั้งเดียว และจะได้คำว่าเช็กอินสำเร็จ หลังใช้บริการจนพอใจก็เช็กเอาต์ คือ ใช้คิวอาร์โค้ดตัวเดียวกัน โดยอาจเช็กเอาท์ไปเลย หรือประเมินร้านค้าทำตามมาตรการ 5 ข้อที่ช่วยลดการติดเชื้อหรือไม่ได้ คือ ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทำความสะอาด ใส่หน้ากาก ลดความแออัด ทั้งนี้เว็บไซต์จะเป็น www.ไทยชนะ.com ภาษาไทยเท่านั้น ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

“หากลืมเช็กเอาต์ยังไม่มีการเช็กเอาต์อัตโนมัติ โดยจะเคลียร์ระบบทุกเที่ยงคืน ขอความกรุณาช่วยกันเช็กเอาต์ เพราะเป็นห่วงว่าคนอื่นจะไม่ได้ใช้บริการ ประเภทกิจการที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่ได้รับการผ่อนคลาย สามารถลงทะเบียนในระบบได้เลย ส่วนร้านค้ารายย่อยในห้างสรรพสินค้าหรือภายในตลาดก็ต้องทำคิวอาร์โคดของตัวเองด้วย เวลาเข้าไปในสถานที่ขนาดใหญ่ เราไม่ได้ไปเดินทั่วไป แต่ไปในจุดบริการ ทำให้ควบคุมโรคได้ละเอียดขึ้น ไปร้านเล็กน้อยก็สแกน ส่วน 1 ครอบครัวใช้ 1 เครื่องได้หรือไม่ หากพาญาติไปร้านต้องจัดบริการหาวิธีบันทึกใครเข้าใช้บริการ อาจเป็นรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ดิจิทัล ซึ่งอบรมพูดคุยกับผู้ประกอบการไปแล้ว” นพ.พลวรรธน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น