“พรรณสิริ กุลนาถศิริ” ส.ส.สุโขทัย พลังประชารัฐ พบกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ลุยเยี่ยมถึงไร่สวนพืชผักผลไม้ ชูโมเดล “วิสาหกิจชุมชน” ทางออกฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด พร้อมผลักดันการเข้าถึงนโยบายภาครัฐทุกมิติ สร้างความยั่งยืนต่อไป
วันนี้ (11 พ.ค.) นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ตนและทีมงานได้ลงพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในการนำหน้ากากอนามัยแบบผ้า, แอลกอฮอสเปรย์, น้ำยาฆ่าเชื้อ, เครื่องดื่ม, เครื่องอุปโภคบริโภค พร้อมสื่อสารและติดตามการเข้าถึงมาตรการการเยียวยารูปแบบต่างๆของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แล้วยังใช้โอกาสรับฟังความคิดเห็นพี่น้องประชาชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโรคระบาดโควิด-19 เบาบางลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรรมที่คาดว่า จะเดือดร้อนกันในระยะยาว ทั้งในด้านการปลูก การพัฒนาผลผลิต การจำหน่ายผลผลิต และสำคัญยิ่งราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ยังความทุกข์ยากให้กับชาวไร่ ชาวสวน เป็นอย่างยิ่งด้วย
“การจัดการรวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน จะช่วยลดสภาพปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ปัญหาด้านแหล่งน้ำ การพัฒนาที่ดิน การเข้าถึงเงินทุน การเข้าถึงนโยบายของภาครัฐ และปัญหาด้านอื่นๆตามการเพาะปลูกแต่ละประเภท การรวมกลุ่มกันจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ตั้งแต่การปลูก การพัฒนาผลผลิต การจำหน่าย ก็จะสามารถต่อรอง หรือเป็นผู้กำหนดราคาได้อีกด้วย สำคัญย่ิงเป็นส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนา ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดีและเหมาะสมที่สุด” ส.ส.สุโขทัย กล่าว
นางพรรณสิริ กล่าวต่อว่า สำหรับ จ.สุโขทัย ได้ร่วมหารือทางกลุ่มไลน์ พูดคุยไลน์กลุ่มและเดินทางไปเยี่ยมเยี่ยมพบปะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถึงที่ถึงถิ่น เช่น กลุ่มเกษตรพืชสวนมะปราง, มะม่วง, กลุ่มเกษตรอินทรีย์, กลุ่มพืชไร่, กลุ่มสมุนไพรแปรรูป, กลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มพืชสมุนไพรวิถีสุโขทัย เป็นต้น รวมทั้งเข้ารับฟังสภาพปัญหาในพื้นที่สวนไร่ฟาร์มของสมาชิกกลุ่มต่างๆที่พบว่า ในส่วนของผลผลิตพืชผักออแกนิคปลอดสารพิษ ที่ส่งโรงพยาบาลประจำจังหวัด และขายส่งศูนย์การค้านั้าผลผลิตไม่พอขาย รวมทั้งกำลังได้รับการส่งเสริมให้แปรรูปเป็นน้ำพืชสด จึงคิดขยายผลให้กับสมาชิกช่วยกันปลูก และเห็นสมควรที่จะจัดการระบบแหล่งน้ำร่วมกันอีกด้วย
“จากองค์ความรู้เกษตรกรที่มีประโยชน์ของศูนย์ต่างๆ เชื่อว่า วิสาหกิจชุมชน จะเป็นระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งให้กับพี่น้องชุมชน ทั้งในแง่การจัดการผลผลิต และต้นแบบการปลูก การทำโรงเรือน เมล็ดพันธุ์ และเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยมีกรมส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เป็นหน่วยงานหลัก และเกษตรจังหวัดเป็นพี่เลี้ยง เชื่อมโยงฐานข้อมูลสารสนเทศที่ชัดเจนเป็นปัจจุบัน พัฒนาการใช้เทคโนโลยีด้านการผลิต การขายออนไลน์ การจัดทำโครงการพร้อมรับการสนับสนุนภาครัฐ เชื่อว่าวิสาหกิจชุมชน จะเป็นทางรอดของเกษตรกรภายหลังวิกฤต และยังเป็นแนวทางที่ยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย” นางพรรณสิริ ระบุ.