xs
xsm
sm
md
lg

ม.แม่โจ้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวเกือบ 5 แสนชุดแจกจ่ายถึงครัวเรือน 77 จว.ทั่วไทย ปลูกกินเลี้ยงชีพสู้โควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ม.แม่โจ้ จัดพิธีส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว 485,000 ชุดตามโครงการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวทั่วไทยสู้ภัยโควิด-19 กระจายแจกจ่ายถึงบ้านประชาชนทั้ง 77 จังหวัด เพื่อปลูกเลี้ยงชีพลดผลกระทบ ประเมินได้ผลผลิตใน 1 ปี มูลค่า 1,700 ล.


มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดพิธีส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวตามโครงการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวทั่วไทยสู้ภัยโควิด-19 เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ นำเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว จำนวน 485,000 ชุด ซึ่งเป็นผลผลิตที่ทางมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ มอบให้แก่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับนำไปใช้ในการเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงชีพลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยรัฐได้เร่งดำเนินมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นเลิศด้านการเกษตร จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยการจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวทั่วไทยสู้ภัยโควิด-19 โดยได้นำเมล็ดพันธุ์ผักที่ได้จากการดำเนินการทางการเกษตรของมหาวิทยาลัย และที่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคส่วนต่างๆ มาบรรจุใส่ซองเป็นชุดๆ สำหรับแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชนทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ 1 ชุด ต่อ 1 ครอบครัว รวมทั้งสิ้น 485,000 ครัวเรือน


โดยมองว่า “ผัก” เป็นอาหารและเป็นยาสามัญประจำบ้าน การมอบเมล็ดพันธุ์หนึ่งเมล็ดจึงมีค่าเทียบเท่ากับหนึ่งชีวิต เมื่อประชาชนได้รับเมล็ดพันธุ์ผักและส่งต่อความปรารถนาดีขยายไปสู่วงกว้าง จะช่วยให้สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชาชนได้ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเมล็ดพันธุ์ 1 ชุด จะประกอบไปด้วย ผักสวนครัว 5 ชนิด เช่น พริก มะเขือ ถั่ว กะเพรา และอื่นๆ โดยแต่ละชนิดจะมีเมล็ดพันธุ์ 15-20 เมล็ด หลังจากการเพาะปลูก ประชาชนจะได้รับประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหาร ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การใช้พัฒนาสายพันธุ์ และการจำหน่ายสร้างรายได้

จากการประมาณการคาดว่าผลผลิตที่ได้จากเมล็ดพันธุ์ผักทั้งหมดนี้จะสามารถสร้างเม็ดเงินได้เป็นมูลค่ากว่า 1,700 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ยังสร้างมูลค่าเชิงสังคมที่เกิดจากการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ และการส่งต่อคุณค่าในการปลูกผักสวนครัวเพื่อสุขภาพ สามารถช่วยสร้างความยั่งยืนในการพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสอดรับต่ออนาคตของประเทศหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ที่จะเปลี่ยนจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจไปสู่ความมั่นคงทางมนุษย์เป็นตัวตั้ง เกษตรยุคใหม่จะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างยิ่ง ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ประชาชนสามารถต่อสู้และพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสไปพร้อมๆ กันได้


ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ฉันทนา วิชรัตน์ หัวหน้าศูนย์เมล็ดพันธุ์อินทรีย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่าโครงการนี้ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานและประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งในเบื้องต้นโครงการได้ตั้งเป้าหมายแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์จำนวน 100,000 ชุด จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ผักเกษตรอินทรีย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต่อมาภาคเอกชนเครือข่ายแม่โจ้ได้ร่วมให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์อีกเป็นจำนวนหนึ่ง จาก บริษัทสยามสตาร์ซีดส์ จำกัด บริษัทเทพมงคลเมล็ดพันธุ์ จำกัด บริษัทพัลซาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด โอ.เค.เมล็ดพันธุ์ จึงได้ขยายผลส่งมอบให้ประชาชนเป็นจำนวนถึง 485,000 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจากคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาได้สละเวลาเป็นจิตอาสาบรรจุเมล็ดพันธุ์ใส่ซอง พร้อมด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนการกระจายส่งมอบสู่ประชาชน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุโขทัย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกระจายสู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเมล็ดพันธุ์หนึ่งชุด ประกอบไปด้วยผักสวนครัว 5 ชนิด แต่ละซองจะมีเมล็ดพันธุ์จำนวน 15-20 เมล็ด





สำหรับพันธุ์หลักๆ ได้แก่ พริก มะเขือ ถั่ว และอื่นๆ ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์การงอกจากห้องปฏิบัติการภายใต้มาตรฐานของมหาวิทยาลัยก่อนบรรจุส่งมอบให้แก่ประชาชน ซึ่งคำนวณเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ที่กระจายออกสู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ 485,000 ครัวเรือน ผลผลิตที่ได้จึงเทียบเท่ากับเม็ดเงินกว่า 1,700 ล้านบาทในระยะเวลา 1 ปี และมูลค่าเชิงสังคมที่เกิดจากการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ การส่งต่อคุณค่าในการปลูกผักสวนครัวเพื่อสุขภาพและสร้างความยั่งยืนในการพึ่งพาตนเอง ตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้เป็นอย่างดี

หัวหน้าศูนย์เมล็ดพันธุ์อินทรีย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า หลังวิกฤตโควิด-19ในครั้งนี้ เชื่อว่าอนาคตของประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจไปสู่ความมั่นคงทางมนุษย์เป็นตัวตั้ง ซึ่งแพลตฟอร์มทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป โดยเกษตรยุคใหม่จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งโครงการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวทั่วไทยสู้ภัยโควิด-19 ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทางมหาวิทยาลัยทำเพื่อประชาชนในการร่วมกันฝ่าฟันและพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสไปพร้อมๆ กัน


กำลังโหลดความคิดเห็น