สมช.ชี้ ผ่อนปรนให้แล้ว แต่ยังต้องยึดมาตรฐานความปลอดภัย สธ.เป็นหลัก เผยไฟเขียวจำหน่ายสุราได้ ก็ปิดได้ หากมั่วสุมจนทำให้โควิด-19 แพร่ระบาดอีก ปลัด มท.ชี้ คนกลับบ้านโดนกักตัว 14 วันหรือไม่ ขึ้นกับเหตุผลรายกรณี พร้อมขอให้สบายใจคนภูเก็ตโดนกักตัว 30 วันแล้ว
วันนี้ (2 พ.ค.) พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า เราเริ่มประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งแต่ 26 มี.ค.- 30 เม.ย. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดให้มีประสิทธิภาพ เมื่อครบกำหนดจึงมีการประกาศใช้ต่ออีก 1 เดือน เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการควบคุมโรคดังกล่าว เข้าใจดีช่วงเดือน เม.ย.มีมาตรการที่เคร่งครัด ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการทำมาหากินของประชาชน การดำเนินชีวิตและผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงผ่อนปรนมาตรการมากยิ่งขึ้นในเดือนพ.ค.แต่ต้องประเมินทุก 14 วัน ส่วนจะมีการผ่อนปรนได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน อย่างไรก็ตามมาตรการผ่อนปรนจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. โดยยังคงรักษามาตรฐานของความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก แต่ก็พยายามผ่อนปรนให้มีการดำรงชีวิตที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น และมีการผ่อนปรนการทำมาหากินเรื่องเศรษฐกิจด้วย ผู้ประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนต้องมีมาตรการกำกับ ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิผู้ใช้บริการ การทำความสะอาดพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นมาตรการพื้นฐาน ทางผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดสามารถพิจารณาออกเพิ่มเติมจากนี้ได้ ขณะที่การอนุญาตให้มีการออกกำลังกายกลางแจ้งได้ เช่น ตีกอล์ฟ เทนนิส เนื่องจากเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนแบดมินตันที่ยังไม่อนุญาต เนื่องจากเล่นในโรงยิม กีฬาในร่ม อากาศไม่ถ่ายเท ส่วนกรณีที่อนุญาตให้ใช้สวนสาธารณะทำกิจกรรมได้ เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ส่วนการรำไทเก๊ก ทำได้แต่ต้องเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัย ทั้งหมดอยู่ที่ผู้ว่าฯแต่ละพื้นที่กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม
พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนสถานพยาบาล สถานทันตกรรม รวมถึงร้านตัดขนสัตว์และสปาอนุญาตให้เปิดได้ เพราะมีความจำเป็นกับการดำเนินชีวิตของผู้คนและยังไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่สัตว์ ขณะที่สถาบันเสริมความงามนั้นฉีดโบท็อกซ์ ฉีดฟีลเลอร์ ยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการ อาจจะประเมินอีกครั้งว่าควรอยู่นการผ่อนปรนเฟส 2 หรือ 3 หรือไม่ แต่เบื้องต้นยังห้ามให้เปิดบริการ อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรการผ่อนคลาย การบังคับใช้ข้อกำหนด ปกติยังมีอยู๋ เช่น ห้ามออกนอกเคหสถาน 22.00-04.00 น.ยังมีอยู่ จำกัดการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด เป็นต้น
พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีผ่อนปรนให้อนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตั้งต่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป ว่า สถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต สามารถจำหน่ายได้ตั้งแต่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เป็นอำนาจผู้ว่าฯแต่ละจังหวัด หากเห็นว่าในพื้นที่มีการละเมิดมาตรการอื่นๆ หรือซ่องสุม จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะเป็นเหตุผลจากการเปิดจำหน่ายสุรา ก็อาจจะพิจารณามาตรการสั่งห้ามจำหน่ายได้ เมื่อถามว่า การอนุญาตให้ซื้อสุรากลับไปดื่มที่บ้านมั่นใจได้อยางไรว่าจะไม่มีการมั่วสุม เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการผ่อนปรนเพื่อให้ซื้อกลับบ้านไปบริโภคกันภายในครอบครัว ไม่ต้องการให้มั่วสุมจับกลุ่มกัน หากมีการมั่วสุมเจ้าหน้าที่เช้าไปตักเตือน ดำเนินคดี และหากการจำหน่ายสุราเป็นต้นเหตุในการละเมิดกฎหมายก็ต้องจำกัดการขายในที่สุด ดังนั้นควรความร่วมมือ ทำอะไรแต่พอสมควร
ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงกรณีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ว่า การปฏิบัติของทุกจังหวัดต้องยึดข้อกำหนดของ ศบค.เป็นหลัก ส่วนความหนักเบาการดำเนินการตามข้อกำหนกขึ้นอยู่สถานการณ์ความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ อาจต่างกันบ้าง ทั้งนี้ นายกฯและรัฐบาลเป็นห่วงใยในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน โดยขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้สำรวจปัญหาความต้องการผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในทุกหมู่บ้าน ส่วนคำถามที่ว่าประชาชนเดินทางได้มากน้อยแค่ไหนอย่าง จะมีการกักตัวหรือไม่ ข้อกำหนดให้งดหรือชะลอเดินทางข้ามจังหวัดยังมีอยู่ แต่ผู้ที่มีความจำเป็นก็ต้องมีเหตุผลอธิบาย มีหลักฐาน และต้องผ่านจุดคัดกรองต่างๆ ที่กระจายทั่วประเทศ เมื่อถึงภูมิลำเนาพื้นที่ต้องเข้าไปดูแล ส่วนต้องโดนกักตัว 14 วันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุผลเป็นรายกรณี กรณีผู้เดินทางปกติต้องอธิบายเหตุผล ส่วนผู้ที่เคยผ่านมากักตัวในสถานที่ของรัฐ หรือที่บ้านมาแล้ว จะมีใบรับรอง เมื่อเดินทางก็ให้แสดงหลักฐานนี้ ยืนยันว่า จะไม่ถูกตัวแน่ ส่วนกลุ่มที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เช่น ภูเก็ต ถ้าเดินทางต้องมีหลักฐานว่าโดนกักตัว 30 วันจากปิดจังหวัด กลุ่มนี้จึงเหมือนโดนกักตัวมาแล้ว เมื่อเดินทางไปที่ใดก็จะมีใบรับรอง และผู้ว่าฯภูเก็ตต้องแจ้งจังหวัดภูมิลำเนาให้ทราบว่าจะมีคนกลุ่มนี้กลับ ขออย่ากังวล เพราะมีที่มาที่ไปมีเหตุผลเพียงแต่อธิบายแสดงข้อมูลเหตุผล ทั้งนี้ ได้แจ้งผู้ว่าฯทุกจัวหวัดให้พูดจาละมุนละหม่อม ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน
เลขาธิการ สมช.กล่าวเพิ่มเติมว่า การเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด ยังเป็นมาตรการที่เรากำหนดและไม่สนับสนุนโดยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนายกฯในฐานะ ผอ.ศบค.ได้หารือในการประชุม ครม.ที่ผ่านมา เนื่องจากเดือน พ.ค.ตั้งแต่ 1-11 พ.ค.มีวันหยุดหลายวันจึงมีมติ ครม.ไม่อนุญาตให้ข้าราชการ และพนักงงานรัฐวิสาหกิจ ลาเพื่อกลับภูมิลำเนาหรือให้ลาเพราะเหตุผลจำเป็นจริงๆ