ข่าวปนคน คนปนข่าว
** ดรามา 5,000 หน้ากระทรวงการคลัง “อุตตม” สั่งตั้งโต๊ะ รับร้องเรียน บทเรียนที่ชี้ว่า ผู้ทำงานก็ลำบาก ผู้ขอรับการเยียวยา ก็น่าเห็นใจ
กระทรวงการคลังถือเป็นด่านหน้าสำหรับการส่งต่อการเยียวยาพิษโควิด-19 ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบภายใต้โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้เงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งปรากฏว่า มีประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท มาร้องเรียนถึงหน้ากระทรวงไม่ขาดสาย แล้วก็เป็นภาพที่สังคมได้เห็นว่า ในแต่ละวันมักมีเกิดเหตุวุ่นวาย เนื่องจากประชาชนไม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุด บรรยากาศเปลี่ยนไป หลังจาก “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง ได้สั่งการเร่งด่วนให้สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดโต๊ะ เก้าอี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาร้องเรียน โดยเมื่อวานนี้ (30 เม.ย.) เป็นวันแรก ที่กระทรวงการคลัง ได้จัดโต๊ะจำนวน 5 ชุด เว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้ที่มาต้องเข้าคิว โดยมีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแนะนำ ซึ่งการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น โดยการตั้งโต๊ะรับเรื่องนั้น จะมีไปต่อเนื่องตามเวลาราชการ
ว่ากันว่า พอเจ้าหน้าที่ได้รับทราบรายละเอียดของปัญหาแต่ละคน ก็ยอมรับว่า ประชาชนที่มาร้องเรียน มีหลายกรณี ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจจะไม่สามารถตอบ หรือไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันที แต่ก็ได้รับเรื่องไว้เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดย รมว.คลัง ยืนยันว่า หากประชาชนลงทะเบียนถูกต้อง ครบตามขั้นตอน มีเงื่อนไขถูกต้อง จะได้รับเงินช่วยเหลือแน่นอน
ฟังว่า ผู้ที่มาร้องเรียนส่วนใหญ่พอใจที่กระทรวงการคลังจัดเจ้าหน้าที่มาดูแลอำนวยความสะดวก รับฟังปัญหาเมื่อได้รับคำชี้แจง และติดตามเรื่องให้ ก็มีความสบายใจ ไม่ได้ก่อเกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายเหมือนหลายวันที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ในวันนี้ (1 พ.ค.) เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่พลาดไปกดปุ่มยกเลิกสิทธิ์รับการเยียวยา หรือ ยกเลิกการทบทวนสิทธิ์ “ปุ่มสีแดง” โดยไม่ตั้งใจ ให้สามารถเข้าไปกด “ปุ่มสีม่วง” เพื่อขอยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนร้องเรียนมาจำนวนมาก ว่า ไปกดยกเลิก ทำให้ไม่สามารถเข้าไปทำรายการเพื่อขอรับเงินเยียวยาได้ โดยระบบจะเปิดให้ลงทะเบียน ตั้งแต่ 06.00-18.00 น. ทุกวัน
สำหรับการจ่ายเงินนั้น ในสัปดาห์หน้า หรือไม่เกินวันที่ 8 พ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินให้ผู้ที่ผ่านสิทธิ์ได้ทั้งหมด 10.6 ล้านคน เหลืออีก 5 ล้านกว่าคน กระทรวงการคลัง จะพยายามเร่งกระบวนการทบทวนสิทธิ์ เพื่อเข้าสู่การเยียวยาได้
บทเรียนเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า เข้าใจทั้งสองฝ่าย คือ ทางฝ่ายราชการนั้น ก็มีข้อจำกัดในการทำงาน และระเบียบปฏิบัติ เรื่องเยียวยาเป็นเรื่องเร่งด่วน ถ้ามองในแง่ตัวเลขครบ 1 เดือน ที่ทำตามมาตรการเยียวยามาแล้วสามารถกระจายเงินถึงมือประขาชน 10.6 ล้านคน ก็ถือว่าไม่ใช่น้อย และที่ยังรอทบทวนสิทธิ์อีก 5 ล้านรายหากผ่านเกณฑ์มาได้ในอีกไม่กี่วัน ยอดจำนวนนี้ก็นับว่าไม่ช้า
ในส่วนของประชาชนผู้ขอรับการเยียวยาก็น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะความเดือดร้อนไม่ต้องพูดกันเลย ทุกคนต่างได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต ช่วงที่โควิด-19 ระบาด อย่างแสนสาหัส
ดังนั้น การดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ จึงต้องพยายามให้ครบ และครอบคลุมมากที่สุด!!
การตั้งโต๊ะของกระทรวงการคลังเพื่อรับฟังเรื่องร้องเรียนของประชาชนในวันนี้ แม้ไม่ใช่เป็นทางออก จบดรามาเยียวยา 5,000 บาท ได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นความพยายามที่จะเข้าถึง เข้าใจปัญหาของประชาชน
ต่างเข้าใจกันและเห็นอกเห็นใจกันในยามวิกฤต เป็นเรื่องที่สังคมต้องการอยู่แล้ว
**จบนะ เมื่อ “สุริยะ” นั่งหัวโต๊ะบอร์ดวัตถุอันตราย คุมลงมติยืนยันแบนสารพิษ เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ ไม่มีเลื่อน
ความเคลื่อนไหวกรณี “แบนสารพิษ” ซึ่งกระแสสังคมจับตามองด้วยความสนใจ หลังมีดรามาอันเกิดจากสภาหอการค้าไทย ที่ก่อนหน้านั้น ยังสนับสนุนให้มีการ “แบน” แต่มากลับลำค้านการแบน โดยส่งหนังสือถึง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้เลื่อนการแบนสารพิษออกไป ด้วยเหตุผลพิลึกดังที่ว่ากันไปแล้ว...
มาล่าสุด ฟังว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอัตราย เมื่อวานนี้ (30 เม.ย.) มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นกรรมการ 28 คน และได้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 24 คน และได้ลงมติอย่างเปิดเผยด้วยเสียงส่วนใหญ่ 17 เสียง ให้ยึดมติเดิม เมื่อ 27 พ.ย. 62 ที่กำหนดให้ 2 สารเคมีทางการเกษตร คือ “พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563
ขณะที่มีกรรมการอีก 6 คน ลงมติไม่เห็นด้วยที่จะคงมติเดิม และอีก 1 คน งดออกเสียง เพราะขอกลับก่อนเนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่นั่งเป็นประธาน เปิดเผยต่อสื่อฯว่า เห็นด้วยกับการยึดมติเดิม หรือไม่เลือนการแบนออกไปตามข้อเสนอของสภาหอการค้า
งานนี้ก็ต้องบอกว่า “รมว.สุริยะ” ได้ใจสังคมไปเต็มๆ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเลื่อนการแบนสารพิษที่ผ่านการถกเถียงกันมาพอสมควรแล้ว และได้ข้อสรุปถึงผลดี มากกว่าจะทนใช้สารพิษกันไป ซึ่งบ่อนทำลายทั้งสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม
การรับมือกับ “เผือกร้อน” นี้ถือว่า “สุริยะ” ทำได้ดี โดยเรื่องที่จะตามมาหลังจากนี้ “กรมวิชาการเกษตร” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องไปหาสารทดแทนเพื่อที่จะนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมในเดือนพฤษภาคม เพื่อที่จะให้เกษตรกรมีทางเลือก
เห็นว่าในเบื้องต้น “กรมวิชาการเกษตร” ได้แจ้งว่า มีสารทดแทนเบื้องต้นแล้ว แต่ยอมรับว่า มีราคาค่อนข้างแพง ขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตร จะไปจัดทำเว็บไซต์เพื่อป้อนข้อมูลเกี่ยวกับสารที่จะมาทดแทน และวิธีดำเนินงานต่างๆให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาดูแนวทางดำเนินการต่อไป
กรมวิชาการเกษตรได้ระบุว่า สารที่จะมาทดแทนการใช้ 2 สารที่จะถูกแบนนั้น ก็มีอยู่ 2-3 ตัว แต่ละพืชที่จะใช้สารทดแทน ก็จะต่างกันไป แต่ยอมรับว่ามีหลายราคา แต่ภาพรวมจะมีราคาสูงกว่า
ส่วนสต๊อก 2 สารพิษ คือ “พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส” ที่มีอยู่ขณะนี้ ประมาณ 10,000 ตัน นั้นกระจายอยู่ในร้านค้า ผู้ผลิต เกษตรกร เมื่อถึงกำหนดการแบน 1 มิถุนายนนี้ หากยังเหลือ ตามกฎหมายจะต้องส่งคืนสารดังกล่าวให้แก่กรมวิชาการเกษตร เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี
มาถึงตรงนี้ก็โล่งใจไปตามๆ กัน.